บัว

          วันที่ ๑๙ เดือนนี้เป็นวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนนิยมใช้ดอกบัวบูชาพระ ด้วยเพราะรูปทรงของดอกบัวตูมที่คล้ายกระพุ่มมือไหว้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำจำกัดความ บัว ว่า “ชื่อเรียกไม้นํ้าหลายชนิดหลายสกุลและหลายวงศ์…” พอจะแยกตามความนิยมปลูกในประเทศไทยได้ ๓ สกุล คือ 

          ๑. สกุล Nelumbo  ในวงศ์ Nelumbonaceae มีเหง้ายาวทอดอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลมขอบเรียบ อยู่ห่าง ๆ กัน ก้านใบและก้านดอกแข็ง มีหนามสากคาย ชูใบและดอกขึ้นพ้นผิวนํ้า เช่น บัวหลวง ดอกสีขาวเรียก สัตตบุษย์ ดอกสีชมพูเรียก ปัทม์ หรือ สัตตบงกช ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เมล็ดกินได้

          ๒. สกุล Nymphaea  ในวงศ์ Nymphaeaceae มีเหง้าสั้นอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลมขอบเรียบหรือจัก อยู่ชิดกันเป็นกระจุก ก้านใบและก้านดอกอ่อนไม่มีหนาม ใบลอยอยู่บนผิวนํ้า ดอกโผล่ขึ้นพ้นผิวนํ้า ผลจมอยู่ในนํ้าเรียก โตนด เช่น บัวสาย ขอบใบจัก ดอกสีขาวหรือแดง ก้านดอกเรียก สายบัว กินได้ พันธุ์ดอกสีขาวเรียก สัตตบรรณ 

          ๓. สกุล Victoria  ในวงศ์ Nymphaeaceae เช่น บัวขอบกระด้ง หรือบัววิกตอเรีย มีเหง้าสั้นอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลมใหญ่ ขอบยกขึ้นคล้ายกระด้ง ลอยอยู่ บนผิวนํ้า ใต้ใบก้านดอก และด้านนอกของกลีบดอกชั้นนอกมีหนามแหลม ดอกใหญ่ สีขาว หอมมาก

         คำว่า บัว ยังมีใช้ในทางสถาปัตยกรรม เช่น บัวหัวเสา คือ ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ทําเป็นรูปกลีบบัว ติดอยู่บนหัวเสา ที่ส่วนล่างของฐานก็เรียกว่าฐานบัว หรือในงานตกแต่งภายใน ผู้อ่านอาจเคยได้ยินช่างเรียกบัวเพดานบ้าง บัวพื้นบ้าง ซึ่งก็คือ “ส่วนประดับที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม ใช้ตกแต่งตรงส่วนขอบของพื้นผนังด้านล่างและด้านบน เพื่อประสานระหว่างพื้นที่ต่างระดับหรือพื้นที่ในแนวนอนกับแนวตั้ง เช่น เพดานกับผนัง พื้นกับผนัง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแถบที่มี ความกว้างตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ยาวทอดไปตามมุม หรือขอบ เช่น เชิงผนัง ขอบเพดาน อาจเป็นปูนที่ปั้นแต่งเป็น รูปแบบต่าง ๆ เป็นไม้แกะสลักหรือไสเซาะเป็นลวดลาย” หรือถ้าเป็นไม้แถบขนาดเล็กไม่มีลวดลาย ช่างทั่วไปมักเรียกว่า ไม้มอบ ลวดบัว ก็เรียก.

รัตติกาล  ศรีอำไพ