บุคคล/บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล

          ด้วยมีผู้สอบถามมาว่า คำ บุคคลนิติสมมติ คือ บุคคลประเภทไหน  ผู้เขียนขออธิบายคำว่า บุคคล บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และบุคคลนิติสมมติ ให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ดังนี้ค่ะ

          บุคคล หมายถึง คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา และคำว่าบุคคลยังหมายถึง กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล และบุคคล มี ๒ ประเภท คือบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

          บุคคลธรรมดา หมายถึง คนหรือมนุษย์ปุถุชนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น ผู้เขียน ผู้อ่าน

          นิติบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคล องค์กร หรือทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เป็นกองทุนเพื่อดำเนินกิจการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่มิใช่บุคคลธรรมดา นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง นอกจากนั้น นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ

          ส่วนคำว่า บุคคลนิติสมมติ เป็นคำกฎหมายที่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว หมายถึง นิติบุคคล  ซึ่งในทางกฎหมายถือว่า นิติบุคคล เป็นบุคคลประเภทหนึ่ง  ค่ะ

กนกวรรณ  ทองตะโก