บ้องไฟหรือบั้งไฟ

          ประเพณีและวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้นำมากำหนดเป็นหัวข้อเรื่องประเภทหนึ่งในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นหนังสือที่รวมสรรพวิชาการทุกสาขา โดยเรียงตามลำดับอักษร ในที่นี้ ขอเสนอความรู้จากสารานุกรมไทย เล่มที่ ๑๖ เรื่องบ้องไฟหรือบั้งไฟ

          บ้องไฟ คือ ดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาวทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ หรือกระบอกเหล็ก บรรจุดินปืน มีขนาดต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ทำ ที่เป็นขนาดใหญ่มี ๒ ชนิด คือ “บ้องไฟหมื่น” กับ “บ้องไฟแสน” บ้องไฟหมื่นใช้ดินปืนหนัก ๑๒ กิโลกรัม บ้องไฟแสนใช้ดินปืนหนัก ๑๒๐ กิโลกรัม  ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนิยมทำบ้องไฟในเดือน ๖ เพื่อบูชาเทวาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมืองขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากความเชื่อถือตามนิยายที่ว่า พระพรหมกับพญานาคเป็นมิตรกัน ได้สัญญากันว่า ปีหนึ่งจะส่งข่าวถึงกันครั้งหนึ่ง ถ้าปีใดพญานาคสบายดีก็ให้ทำบ้องไฟจุดขึ้นไปบนสวรรค์เมื่อพระพรหมเห็นบ้องไฟ ถ้าพระพรหมสบายดีก็จะสั่งให้พระพิรุณทำฝนตกลงมา เมื่อพญานาคเห็นฝนก็จะทราบเรื่องตามสัญญา เหตุนี้ จึงจัดทำกันในต้นฤดูฝน เป็นงานประเพณีประจำปี คือ ทำพิธีขอฝนจากเทวาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมืองนั่นเอง บุญบ้องไฟกำหนดจัดในเดือน ๖ บางครั้งก็ทำในเดือน ๗ หรือเดือน ๘ ตามจำเป็น ในระหว่าง ๓ เดือนนี้ชาวบ้านในตำบลต่างประชุมกันจัดให้มีการทำบุญครั้งใหญ่ เรียกว่า บุญบ้องไฟบ้าง บุญเดือน ๖ บ้าง การทำบุญเช่นนี้ มีบ้องไฟประกอบทุกคราวจึงเรียกว่าบุญบ้องไฟ และที่เรียกว่า บุญเดือน ๖ นั้น ก็เพราะมักทำในฤดูเดือน ๖ หรือเดือน ๗ เดือนใดเดือนหนึ่ง อนึ่ง คำว่า บ้องไฟ ในภาษาถิ่นเรียกกันไปต่าง ๆ เช่น ภาคเหนือเรียก บอกไฟ ภาคกลางเรียก จรวด ตรวจ และกรวด

 จำเรียง  จันทรประภา