ปฏิทรรศน์

          ปฏิทรรศน์ เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า paradox ซึ่งในพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า สภาวะอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อข้อสรุปที่ได้จากการนิรนัย (deduction) อันสมเหตุสมผล ขัดแย้งกับข้อความบางข้อความที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าถูกต้อง ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดความฉงน เพราะยากที่จะอธิบายได้

          คำว่า paradox  ได้นำไปใช้อธิบายแนวคิดต่าง ๆ ทางสังคมศาสตร์ เพื่ออธิบายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสภาวการณ์นั้น เช่น ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ได้นำไปใช้อธิบายการออมเงินของประชาชนในคำว่า ปฏิทรรศน์ในการประหยัด (paradox on thrift) พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง  แนวความคิดที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างการออมที่เกิดขึ้นจริง (realized saving) กับการออมที่ตั้งใจไว้ (planned saving) กล่าวคือ ถ้าครัวเรือนต้องการที่จะทำการออมในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของตน จะทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลทำให้อุปสงค์มวลรวมของประเทศลดลง ทำให้การจ้างงานและการผลิตต่าง ๆ ลดลงด้วย จึงมีผลทำให้รายได้ประชาชาติลดลง และการออมที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่เกิดขึ้นตามความตั้งใจ  นอกจากนี้ยังมีคำว่า  ปฏิทรรศน์ในมูลค่า (paradox of value) หมายถึง ความขัดแย้งกันระหว่างคุณค่าในการใช้ประโยชน์ กับมูลค่าในการแลกเปลี่ยนหรือราคาสินค้า ตามแนวความคิดนี้มูลค่าในการแลกเปลี่ยนหรือราคาสินค้าขึ้นอยู่กับความขาดแคลน ความหามาได้ยาก ขณะที่คุณค่าในการใช้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสามารถของสินค้านั้นในการบำบัดความต้องการของมนุษย์ หรืออรรถประโยชน์ (utility) เช่น น้ำเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่มีราคาต่ำ เพราะมีปริมาณมาก  ในทางตรงกันข้าม เพชรซึ่งมีประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์น้อย แต่กลับมีราคาสูงเพราะเป็นสิ่งที่หามาได้ยาก.

จินดารัตน์   โพธิ์นอก