ปภัสสร

          หนึ่งในความปรารถนาที่เรามักจะตั้งจิตมั่นในการอธิษฐานขอพร คือ การขอให้มีจิตใจที่ผ่องแผ้ว ผ่องใส  ทราบไหมว่าในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็มีกล่าวถึงจิตที่มีลักษณะผ่องใสไว้ด้วยเช่นกัน  พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) อธิบายไว้ที่ pabhassara (ปภัสสร) ว่า

          ปภัสสร  ตามรูปศัพท์บาลี แปลว่า มีแสงสว่างแผ่ซ่านออก ใช้เป็นคุณลักษณะของจิต หมายถึง ผ่องใส ดังปรากฏพระพุทธพจน์เป็นหลักฐานอยู่ในเอกกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ ว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ปภัสสร ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสมาเยือน ปุถุชนผู้มิได้สดับ(ศึกษา)แล้ว ย่อมไม่รู้จิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น ตถาคตจึงกล่าวว่า จิตตภาวนาย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ” และว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ปภัสสร ก็จิตนั้นแลหลุดพ้นจากอุปกิเลสที่มาเยือนได้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ฉะนั้น ตถาคตจึงกล่าวว่า จิตตภาวนามีอยู่แก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว”

          พระพุทธพจน์นี้บอกให้รู้ว่า “จิตปภัสสร” มีอยู่จริง  และตีความกันหลายทาง คัมภีร์อรรถกถามโนรถปูรณีตีความว่า จิตปภัสสรคือภวังคจิต   นิกายมหายานบางนิกายตีความว่า จิตปภัสสรคือจิตเดิมแท้  นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า จิตกับกิเลสไม่ใช่สิ่งเดียวกัน จิตคือธรรมชาติ รู้หมายถึงรู้รับอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้เก็บอารมณ์ที่มากระทบแล้ว รู้สะสมทั้งกิเลสและคุณธรรม กิเลสและคุณธรรมเรียกตามหลักอภิธรรมว่า เจตสิก หมายถึง สิ่งที่เกิดกับจิต  มีลักษณะคือมีอารมณ์และที่อยู่อย่างเดียวกับจิต เกิดและดับพร้อมกับจิต ฉะนั้น จึงมีบางท่านตีความว่า เป็นคุณสมบัติของจิต หากเรียกตามนัยพระสูตร คือ สังขาร หมายถึง เครื่องปรุงแต่งจิต โดยนัยนี้จึงอาจอธิบายพระพุทธพจน์ได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะแสดงจิต ๒ ลักษณะ คือ จิตปภัสสรกับจิตเศร้าหมอง จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเข้ามาปรุงแต่ง ส่วนจิตปภัสสรหรือผ่องใสเพราะหลุดพ้นจากอุปกิเลส และการที่จิตจะปภัสสรได้นั้นก็ต้องผ่านขั้นตอนการฝึกที่เรียกว่า “จิตตภาวนา” ในพระพุทธพจน์นี้จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้จิตนั้นตามความเป็นจริง และปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่มีจิตตภาวนา” และว่า “อริยสาวกผู้สดับแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง และอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วย่อมมีจิตตภาวนา”.


       กนกวรรณ  ทองตะโก