ประชากร

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ นิยามคำ ประชากร ว่า หมู่คน, หมู่พลเมือง (เกี่ยวกับ  จำนวน) บทนิยามดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า  ในความหมายทั่วไป ประชากร ใช้เฉพาะคนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ประชากรมีความหมายกว้างขึ้น ไม่ได้ใช้เฉพาะคน  ประชากรหมู ประชากรต้นไม้ ก็ใช้ได้  แต่ต้องใช้ให้ถูกที่

พจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ประชากร (population)  ในทางสถิติศาสตร์ หมายถึง จำนวนรวมทั้งหมดของคน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่ต้องการศึกษา  แต่ในทางประชากรศาสตร์ ประชากร หมายถึง กลุ่มคนที่มีอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งอาจมีนิยามแตกต่างกันไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ  นอกจากนี้ยังอาจใช้หมายถึงกลุ่มย่อยภายในประชากรทั้งหมดได้ด้วย  เช่น ประชากรหญิง ประชากรวัยแรงงาน ประชากรนักเรียน ขนาดและโครงสร้างของประชากรถูกกำหนดโดยการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนคนกลุ่มต่าง ๆ ในประชากรนั้น ๆ โดยผ่านการเกิด (birth) การตาย (death) และการย้ายถิ่น (migration )  ประชากรศาสตร์ที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นศาสตร์ที่ศึกษาประชากรมนุษย์  ประชากรศาสตร์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า demography  เนื้อหาสำคัญของประชากรศาสตร์ประกอบด้วยเรื่องการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น  อันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดโครงสร้างและการกระจายตัวของประชากร  นักประชากรศาสตร์สนใจศึกษาประชากรที่มีขนาดใหญ่พอที่ผลการศึกษาจะทำให้เห็นภาพรวมประชากรของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งได้ เช่น ประเทศ ภาค จังหวัด   แหล่งข้อมูลหลักของประชากรศาสตร์ประกอบด้วย สำมะโนประชากร การจดทะเบียนชีพ และการสำรวจ

ศัพท์ทางประชากรศาสตร์ที่น่าสนใจยังมีอีกเป็นจำนวนมาก  ท่านที่สนใจ อ่านเพิ่มเติมได้ในพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นผลงานที่ราชบัณฑิตยสถานเพิ่งจัดพิมพ์เผยแพร่

                                                                                                                                                แสงจันทร์  แสนสุภา