ประชาธิปไตย

          ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยกลุ่มบุคคลที่ก่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ทหารและพลเรือนที่เรียกว่า คณะราษฎรซึ่งยึดหลัก ๖ ประการที่ต้องดำเนินการ คือ (๑) รักษาความเป็นเอกราช (๒) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลง (๓) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ (๔) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (๕) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการข้างต้น และ (๖) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ซึ่งนับเป็นเวลา ๗๗ ปีแล้ว ที่คำว่า ประชาธิปไตยเป็นที่กล่าวขานและอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตยกันทั้งประเทศ

          คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ได้บัญญัติคำประชาธิปไตยนี้ มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า democracy ว่าคำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ คือ คำว่า demos หมายถึง ประชาชน และ kratos หมายถึง อำนาจปกครอง ดังนั้นประชาธิปไตยจึงหมายความถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจปกครองหรือการปกครองด้วยตนเองโดยตรงได้เพราะมีจำนวนมาก จึงต้องใช้ระบบการเลือกตั้งผู้แทนเพื่อใช้อำนาจแทนประชาชน  การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็นหลายระบบ ระบบที่สำคัญได้แก่ การปกครองระบบรัฐสภา (parliamentary government) เป็นการปกครองที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแยกออกจากกัน แต่ก็ยังมีความเกี่ยวพันกัน และการปกครองระบบประธานาธิบดี (presidential government) เป็นการปกครองที่แยกฝ่ายบริหารออกเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร

         จำเรียง  จันทรประภา