ประทับ

         คำว่า ประทับ เป็นราชาศัพท์ของคำว่า อยู่ หรือ นั่ง ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ในเมื่อ ประทับ หมายถึง นั่ง จึงไม่ใช้ราชาศัพท์ของคำกริยา นั่ง ว่า ประทับนั่ง และไม่ใช้ราชาศัพท์ของคำว่า ยืน ว่า ประทับยืน ให้จำไว้ว่า ประทับ คือ นั่ง เช่น ประทับพระราชสาสน์ ประทับพระราชยานและราชาศัพท์ของคำว่า ยืน ก็คือ ทรงยืน เช่น ทรงยืนโบกพระหัตถ์ให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ประทับ ยังหมายถึง อยู่ เช่น ประทับ ณ วังไกลกังวล คำว่า ประทับ ที่มีความหมายว่า “นั่ง” ยังมีปรากฏอยู่ในบริบทต่าง ๆ เช่นการประทับยานพาหนะส่วนพระองค์ หรือยานพาหนะที่มีผู้จัดถวายเป็นการเฉพาะพระองค์ ที่ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ใช้ว่า ประทับ + ยานพาหนะ + ที่นั่ง เช่น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง หากใช้แก่พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้ราชาศัพท์ ประทับ + ยานพาหนะ + ที่นั่ง เช่น ประทับเครื่องบินที่นั่ง ซึ่งหากพระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ประทับ ยานพาหนะทั่ว ๆ ไปที่มิได้เป็นการจัดถวายเฉพาะพระองค์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ประทับ + ยานพาหนะ เช่น ประทับเครื่องบินของสายการบินสวิสแอร์ นอกจากนี้คำว่า “ประทับ” ในความหมายว่า “อยู่” ยังมีปรากฏใช้ในบริบท เช่น เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ หมายถึง ไปค้างแรม ยังวังหรือพระตำหนักอื่นในต่างจังหวัด ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี เช่น เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล  ราชาศัพท์ว่า เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม หมายถึง ไปค้างแรม ยังที่ซึ่งมิใช่วังหรือพระตำหนัก เช่น เรือนรับรอง ฯลฯ ใช้แก่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และราชาศัพท์ว่า เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพัก หมายถึง ไปค้างแรม ยังวังหรือพระตำหนักอื่นเป็นการภายใน ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี เมื่อจะใช้คำว่า ประทับ จึงควรพิจารณาความที่ต้องการอธิบายด้วยว่าจะใช้ให้มีความหมายว่า นั่ง หรือ อยู่ เพื่อจะได้สร้างประโยคที่ประกอบด้วยคำว่า ประทับ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นไปตามแบบแผน.

   สุปัญญา  ชมจินดา