ประนีประนอมยอมความ

           ประนีประนอมยอมความ เป็นสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้ง ๒ ฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่คู่กรณีจะประนีประนอมกันอย่างไรนั้น นายสถิตย์ เล็งไธสง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กระทรวงยุติธรรม ได้เขียนอธิบายไว้ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้

           ประนีประนอมยอมความ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับเก่าใช้ ปราณีประนอมยอมความ ตามรูปคำเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายสงสารเห็นอกเห็นใจกัน ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้แก่กันตามกฎหมายเป็นสัญญาระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี ๒ ฝ่ายให้เสร็จสิ้นไป โดยต่างฝ่ายต่างยอมโอนอ่อนผ่อนผันให้แก่กัน

            ข้อพิพาทนั้นอาจเกิดขึ้นแล้ว เช่น ก ยืมเงิน ข ถึงกำหนดแล้ว ไม่ชำระหนี้ ข จึงฟ้อง ก ต่อศาล ระหว่างพิจารณาของศาล ก และ ข ตกลงกันให้ ก ผ่อนชำระหนี้แก่ ข เป็นงวด ๆ ภายใน ๖ เดือน เป็นต้น สัญญาประนีประนอมยอมกันไว้เพื่อระงับข้อพิพาทนั้นอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เกรงว่าจะเกิดขึ้น จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมกันไว้ เพื่อระงับข้อพิพาทไม่ให้เกิดขึ้น เช่น ก ยืมเงิน ข แล้วไม่ใช้ ข ทวงถาม ก เกรงจะถูกฟ้อง จึงมาหา ข แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดย ข ยอมผ่อนเวลาให้ ก และ ก ยอมเสียดอกเบี้ยให้ ข เป็นการตอบแทน เป็นต้น การประนีประนอมยอมความนอกศาลนั้น ถ้าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องฟ้องร้องต่อศาล จึงจะยึดทรัพย์บังคับคดีกันได้ แต่การยอมความในศาลดังกรณีก่อน ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อฝ่ายหนึ่งผิดนัด อีกฝ่ายหนึ่งยอมขอให้ศาลบังคับคดีได้เลย

            การประนีประนอมยอมความนี้มีผลให้ข้อเรียกร้องเดิมระงับไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามข้อความในสัญญาที่ทำกันขึ้นใหม่นั้น นอกจากนั้น ยังทำให้อายุความตามหนี้เดิมสะดุดหยุดลง แล้วอายุความเริ่มต้นเดินใหม่ต่อไปอีก ๑๐ ปี บางกรณีอายุความตามสัญญาเดิมอาจจะสั้นกว่า ๑๐ ปี แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอายุความก็จะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี เหมือนกันหมด เช่น พ่อค้าโรงงานทอผ้าขายผ้าให้ร้านค้า ยังไม่ได้รับเงินค่าผ้าตามอายุความเรียกเอาเงินค่าผ้าที่ขายตามกฎหมายมีเพียง ๒ ปี หมายความว่าพ้น ๒ ปีไปแล้วเรียกเอาไม่ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อผู้ขายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยพ่อค้าผ้ายอมให้ผู้ซื้อชำระเงินภายในกำหนดใหม่ อาจเป็น ๖ เดือน หรือ ๘ เดือน ก็แล้วแต่จะตกลงกัน โดยผู้ซื้อยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายดังนี้ อายุความเรียกร้องเอาเงินค่าผ้านั้นจะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี

            การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คงอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรม กล่าวคือ ถือเอาเจตนาของคู่กรณีที่แสดงออก ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติได้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้า ก กับ ข ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า ก ยอมรับชำระหนี้จาก ข เพียงบางส่วน แต่ ข ลูกหนี้ต้องไปขนฝิ่นสองเที่ยวจากเมืองเหนือเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้

            หลักสำคัญในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็คือ ต้องให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้นเป็นสำคัญหรือลายมือชื่อของตัวแทนของฝ่ายนั้นก็ได้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เช่น เจ้าหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ลูกหนี้มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญานั้น เจ้าหนี้ก็จะนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องลูกหนี้ไม่ได้ ในทางกลับกันเจ้าหนี้ลูกหนี้ประนีประนอมยอมความกันด้วยปากเปล่า ภายหลังลูกหนี้เขียนหนังสือถึงเจ้าหนี้กล่าวถึงข้อตกลงที่ได้ทำไปแล้ว และลงลายมือชื่อมาในจดหมายนั้น ย่อมถือว่าจดหมายนั้นเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีลายมือชื่อของลูกหนี้อยู่แล้ว เจ้าหนี้ใช้จดหมายนั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องลูกหนี้ได้

            ประนีประนอมยอมความนั้น เกิดจากความเมตตาปรานีของคู่กรณีที่เห็นอกเห็นใจกัน จึงได้ประนอมออมชอมกันยกเลิกข้อเรียกร้องเดิม ทำสัญญากันใหม่ กฎหมายถือว่า เป็นวิธีที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีอย่างยิ่งยวด เพราะเกิดจากความพอใจของทั้งสองฝ่าย.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๙ สิงหาคม ๒๕๓๗