ประสบการณ์

        คำ “ประสบการณ์” เป็นศัพท์บัญญัติมาจากภาษาอังกฤษว่า experience แต่เดิมกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้บัญญัติให้ใช้คำว่า “ประสพการณ์” (อ่านว่า ประ-สบ-พะ-กาน) ต่อมาเมื่อคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน ขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษาที่ทางกรมวิชาการได้จัดทำขึ้นมาให้รับรอง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้แก้ไขศัพท์บัญญัติคำนี้ใหม่เนื่องจากความหมายของคำ “ประสพการณ์” ไม่ตรงกับความหมายของคำ experience อย่างแท้จริง

        คำว่า “ประสพการณ์” เกิดจากการสมาสคำ “ประสพ” กับคำ “การณ์” คำ “ประสพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายไว้ว่า “น. การเกิดผล.” มาจากภาษาบาลีว่า ปสว ภาษาสันสกฤตว่า ปฺรสว ส่วน “การณ์” แปลว่า “น. เหตุ เค้า มูล.” เมื่อเข้าสมาสกันแล้วก็มีความหมายว่า “เหตุแห่งการเกิดผล” ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของ experience

        พจนานุกรม Chambers 20th Century อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า “n. test trail experiment (obs.) : practical acquaintance with any matter gained by trail : long and varied observation personal or general : wisdom derived from the changes and trials of life : the passing through any event or course of events by which one is affected : an event so passed through : anything recieved by the mind as sensation perception or knowledge.”

        จะเห็นได้ว่าความหมายในภาษาอังกฤษลึกซึ้งและครอบคลุมมาก experience นี้จะต้องได้มาจากการสังเกต การเรียนรู้ การได้พบด้วยตัวเอง และจดจำเก็บไว้เป็นเสมือนบทเรียนของชีวิต ซึ่งแต่ละคนจะมี experience เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน แต่หลายคนก็สามารถมี experience ร่วมกันได้ experience นี้จะเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้เหตุการณ์นั้น ๆ กล่าวคือ เหตุการณ์ต้องเกิดขึ้นก่อนจึงจะเกิด experience ไม่ใช่ experience เกิดก่อน จึงเกิดเหตุการณ์ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้คำ “ประสพการณ์” ซึ่งแปลว่า “เหตุแห่งการเกิดผล”

        ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการฯ จึงแก้ไขคำนี้ใหม่เป็น “ประสบการณ์” (อ่านว่า ปฺระ-สบ-กาน) ซึ่งเกิดจากการประกอบคำ “ประสบ” ซึ่งเป็นคำไทยเข้ากับคำ “การณ์” คำว่า “ประสบ” พจนานุกรมให้ความหมายว่า “ก. พบ พบปะ พบเห็น.” เมื่อรวมกันเข้าจึงเป็น “ประสบการณ์” มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “การได้พบเหตุการณ์” ซึ่งค่อนข้างตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษของคำ “experience” และเพื่อที่จะได้ใช้คำนี้ในความหมายที่ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำ “ประสบการณ์” เข้าเป็นลูกคำของคำว่า “ประสบ” และให้นิยามไว้ว่า “น. ความจัดเจนที่เกิดจากการกระทำหรือได้พบเห็นมา.” (หน้า ๕๐๙)

        แม้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน จะมีหน้าที่บัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่มาจากภาษาต่างประเทศสำหรับประกาศใช้ทั่วประเทศเพื่อให้การใช้ภาษาไทยมีเอกภาพ แต่คณะกรรมการฯ ก็คำนึงถึงความนิยมใช้ของผู้ใช้ภาษาเช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่จำเป็นต้องแก้ไขศัพท์บัญญัติซึ่งได้บัญญัติไว้แล้ว แต่ความหมายไม่ตรงตามความหมายในภาษาเดิมนั้น คณะกรรมการจะพยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำใหม่ที่ถูกต้องและมีเสียงใกล้เคียงกับศัพท์บัญญัติคำเดิมให้มากที่สุด เพื่อผู้ใช้จะได้สามารถจดจำนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ดังเช่นคำ ประสบการณ์ ที่ได้อธิบายมาแล้ว.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๒