ประเภทของปีติ

          ปีติ แปลว่า ความปลาบปลื้มใจ ความอิ่มใจ หลายคนมักเขียนและออกเสียงผิดเป็น ปิติ ปีตินี้ไม่ว่าเกิดขึ้นแก่ใคร ก็จะทำให้คนนั้นมีหน้าตาแช่มชื่น จิตใจแจ่มใส เป็นความอิ่มเอิบที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย แต่ทราบหรือไม่ว่า ในทางพระพุทธศาสนามีการแบ่งปีติเป็นประเภทแตกต่างกันตามอาการที่เกิดแก่ร่างกายด้วย

          พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ในวิสุทธิมรรคกล่าวถึงปีติในการเจริญสมถะไว้ ๕ ประเภท ได้แก่ ปีติเล็กน้อย เมื่อเกิดปีติประเภทนี้จะมีอาการขนลุก บางทีทำให้น้ำตาไหล ปีติเป็นขณะ จะรู้สึกเย็นวูบในกายเป็นขณะ ๆ ดุจฟ้าแลบ ปีติเป็นระลอก เกิดยาวนานและแรงกว่าปีติ ๒ ประเภทแรก ทำให้รู้สึกเย็นซู่ซ่าคล้ายคลื่นซัดฝั่ง ปีติโลดลอย อาการทางกายที่ปรากฏคือ ตัวเบาถึงขั้นลอยจากพื้น หรือลอยไปในอากาศได้ บางครั้งอาจเปล่งคำพูดออกมาด้วยความโสมนัสใจ และ ปีติแผ่ซ่าน จะรู้สึกเย็นซาบซ่านไปทั่วร่าง

          ตัวอย่างของการเกิดปีติที่กล่าวถึงในพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากลฯ มี ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่งอยู่ในวิสุทธิมรรค กล่าวถึงหญิงสาวชาวสิงหลคนหนึ่งที่ต้องการไปร่วมงานบูชาพระเจดีย์ที่วัดในคืนวันเพ็ญ แต่พ่อแม่ของเธอเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงขอไปแทน หญิงสาวคนนี้ไม่อาจข่มศรัทธาให้ลดลงได้ จึงออกมายืนหน้าบ้าน มองผ่านแสงจันทร์ไปที่พระเจดีย์ เห็นแสงจันทร์กระทบยอดพระเจดีย์สีขาวสว่าง เธอเกิดปีติมากถึงขั้นตัวลอยไปลงที่พระเจดีย์ ซึ่งวิสุทธิมรรคอธิบายว่า เธอมาที่พระเจดีย์ด้วยอานุภาพแห่งปีติโลดลอย อีกตัวอย่างหนึ่งกล่าวถึงในอรรถกถาธรรมบท เรื่องมีอยู่ว่า สาวชาวไร่คนหนึ่งมีโอกาสถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะแล้วเกิดปีติทั้ง ๕ ประเภท แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ขณะที่เธอเดินกลับโรงนาทั้งที่มีปีตินั้นเองก็เผลอไปเหยียบงูพิษเข้าจึงถูกงูกัดตาย แต่ด้วยมหากุศลจิตประกอบด้วยโสมนัส ส่งผลให้เธอไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สาวชาวไร่คนนี้มีปีติเกิดขึ้นตามลำดับจนกระทั่งถึงปีติแผ่ซ่านและตายในขณะนั้น ซึ่งถือว่าตายด้วยจิตที่เป็นกุศล.

อารยา ถิรมงคลจิต