ปุโรหิต

          ท่านผู้อ่านเคยดูละครจักร ๆ วงศ์ ๆ กันบ้างหรือไม่คะ  ท่านใดที่เคยดูก็คงจะเห็นชายคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ที่เรียกว่า  “ปุโรหิต” อยู่เป็นประจำ  ตำแหน่งปุโรหิตนี้แท้จริงแล้วเป็นใคร  และทำหน้าที่อะไร  เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๙ ได้กล่าวถึงปุโรหิตไว้ว่า “ปุโรหิต” เป็นตำแหน่งหัวหน้าพราหมณ์ผู้เป็นประธานหรือผู้อำนวยการในการทำยัญพิธีในราชสำนักของกษัตริย์ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ของอินเดีย และประเทศต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ในสมัยโบราณจนถึงศาสนาฮินดูในปัจจุบัน คำว่า ปุโรหิต มีความหมายตามรูปคำ แปลว่า ถูกวางไว้แล้วข้างหน้า หรือ ถูกตั้งไว้ข้างหน้า ซึ่งหมายถึง การเป็นผู้ที่พระราชาทรงนับถือยกย่องและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นอันดับหัวหน้าในหมู่พราหมณ์ในราชสำนัก  อีกความหมายหนึ่งคือ แปลว่า ผู้มีประโยชน์ก่อน หรือ ผู้เอาประโยชน์ก่อน ซึ่งหมายถึง การเป็นผู้ที่ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนก่อนการทำพิธีต่าง ๆ ทุกครั้ง  ตำแหน่งปุโรหิตถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายพราหมณ์  มีอำนาจและอิทธิพลเคียงคู่กับตำแหน่งกษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียมาแต่โบราณ  อำนาจและหน้าที่หลักของปุโรหิต โดยหลักใหญ่มี ๒ ประการคือ ๑. ในยามบ้านเมืองสงบ ปราศจากสงคราม     ปุโรหิตมีหน้าที่เป็นประธานในการทำพิธีต่างๆ เพื่อพระราชา  บางทีเรียกกันว่า หัวหน้าพระประจำราชสำนัก  ๒. ในยามศึกสงคราม  ปุโรหิตมีหน้าที่ช่วยเหลือพระราชาในการทำพิธีทำลายล้างข้าศึกและนำชัยชนะมาสู่แว่นแคว้นของตน  จะเห็นได้ว่าในสมัยโบราณปุโรหิตมีความสำคัญมากต่อพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่ายามปรกติหรือยามสงคราม

          อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันตำแหน่งปุโรหิตก็มีการเปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ ปุโรหิตกลายเป็นตำแหน่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีทั่วไปในชุมนุมต่าง ๆ   แม้ในหมู่บ้าน พราหมณ์ประจำหมู่บ้านที่มีหน้าที่ประกอบพิธีธรรมดาให้แก่ชาวบ้าน เช่น พิธีในการเกิด การแต่งงาน ซึ่งไม่นับเป็นพระราชพิธีแต่อย่างใด  ก็ยังเรียกตนเองว่า “ปุโรหิต” เป็นการแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจากคุณลักษณะเดิมของปุโรหิตทั้งในด้านคุณวุฒิและหน้าที่.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์