ป้อมริมคลอง (๑)

          พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ อธิบายเรื่อง “ป้อม” ที่มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า หอรบ หรือที่อยู่ ที่พักซึ่งทำขึ้นใช้กันแดดกันฝน ไว้มากมาย วันนี้ได้รวมความเรื่อง “ป้อม” ที่อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในกรุงเทพมหานคร มานำเสนอ แต่ก่อนที่จะทราบว่าป้อมดังกล่าวมีอะไรบ้าง ขออธิบายความเป็นมาของ คลองผดุงกรุงเกษม พอเป็นสังเขปก่อน

          คลองผดุงกรุงเกษม” เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเพื่อขยายเขตพระนครให้กว้างขวาง เนื่องจากมีประชาชนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คลองนี้เริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าวัดเทวราชกุญชร มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาข้างทิศใต้วัดแก้วฟ้า (เดิม) หลังจากการขุดคลองแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๙๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามคลองนี้ว่า คลองผดุงกรุงเกษม” และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเรียงรายไปตามริมคลองรวม ๘ ป้อม โดยพระราชทานชื่อของป้อมทั้งแปดไว้ตั้งแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ชื่อของป้อมเหล่านี้มีความไพเราะ คล้องจองกัน และมีความหมายไปในทางเดียวกัน คือ เป็นป้อมที่ป้องกันไม่ให้ศัตรูมารุกรานพระนคร ได้แก่ ป้องปัจจามิตร ปิดปัจจนึก ฮึกเหี้ยมหาญ ผลาญไพรีราบ ปราบศัตรูพ่าย ทำลายแรงปรปักษ์ หักกำลังดัสกร และ พระนครรักษา

          ป้อมป้องปัจจามิตร” เป็นป้อมเดียวจากป้อมทั้งแปดที่ตั้งอยู่บนฝั่งธนบุรี ริมปากคลองสาน ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษมทางด้านใต้ เมื่อบ้านเมืองขยายมากขึ้น และความจำเป็นในการป้องกันข้าศึกด้วยป้อมปราการหมดลงไปแล้ว จึงมีการรื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลง คงเหลือไว้แต่ป้อมป้องปัจจามิตรเพียงป้อมเดียว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรม กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนป้อมป้องปัจจามิตรให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒.

อารยา ถิรมงคลจิต