ป้อมริมคลอง (๒)

          เมื่อวานนี้ได้อธิบายเรื่องราวของป้อมริมคลองผดุงกรุงเกษมที่รวมความมาจาก พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ซึ่งนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็นผู้เรียบเรียง และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่ ไปเพียงป้อมเดียวคือ ป้อมป้องปัจจามิตร วันนี้มาติดตามกันต่อว่าป้อมที่เหลือจะมีเรื่องราวใดที่น่าสนใจบ้าง “ป้อมปิดปัจจนึก” ตั้งอยู่บนฝั่งพระนคร ริมปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้ คำว่า “ปัจจนึก” พจนานุกรมฯ เก็บว่า ปัจนึก และอ่านได้ ๒ แบบ คือ ปัดจะหนึก หรือ ปัดจะนึก “ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ” มีปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า เป็นป้อมเล็กสำหรับยิงสลุต มีผู้สันนิษฐานว่า ป้อมนี้คงไม่ได้สร้าง และในแผนที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏ คงจะได้มีการสร้างเพียง ๗ ป้อม “ป้อมผลาญไพรีราบ” ตั้งอยู่บริเวณตลาดหัวลำโพง ส่วน “ป้อมปราบศัตรูพ่าย” ตั้งอยู่ใกล้สะพานนพวงศ์ ปัจจุบันชื่อป้อมนี้ใช้เป็นชื่อเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครเท่านั้น

          “ป้อมทำลายแรงปรปักษ์” ตั้งอยู่มุมถนนหลานหลวง เชิงสะพานขาว กรุงเทพมหานคร ชื่อของป้อมนี้ปรากฏในตำนานสถานที่และวัตถุต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าชื่อป้อมทำลายแรงปรปักษ์ แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่าชื่อป้อมทำลายปรปักษ์ การรื้อป้อมทำลายแรงปรปักษ์มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อรื้อป้อมทำลายแรงปรปักษ์ลงแล้ว จะนำชื่อป้อมนี้ไปใช้กับชื่อถนนหรือสะพานก็ไม่เหมาะสม ไม่เหมือนกับป้อมปราบศัตรูพ่ายที่โปรดเกล้าฯ ให้รื้อแล้วนำชื่อป้อมไปเป็นชื่อสะพานร้อยปี “ป้อมหักกำลังดัสกร” ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินนอก และป้อมริมคลองผดุงกรุงเกษมป้อมสุดท้ายคือ “ป้อมพระนครรักษา” ตั้งอยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านเหนือ ใกล้วัดนรนาถสุนทริการาม ชื่อของป้อมพระนครรักษาปรากฏในตำนานสถานที่และวัตถุต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ว่าชื่อป้อมพระนครรักษา แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่าชื่อป้อมมหานครรักษา.

อารยา ถิรมงคลจิต