ผรุสวาท

คำ ผรุสวาท (อ่าน ผะ-รุด-สะ-วาด) เขียน ผ ผึ้ง ร เรือ สระอุ ส เสือ ว แหวน สระอา ท ทหาร ประกอบด้วยคำว่า ผรุส (อ่าน ผะ-รุด-สะ) ซึ่งมาจากคำภาษาบาลีแปลว่า รุนแรง. ในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนพายุพัดขอนไม้ที่พระสมุทรโฆษและพระนางพินทุมดีเกาะข้ามมหาสมุทรไปยังอีกฝั่งหนึ่งจนขาดออกเป็น ๒ ท่อน กวีใช้คำเรียกลมที่มีกำลังแรงว่า  ผรุสมรุตะ (อ่านว่า ผะรุ-สะ-มะรุ-ตะ) ดังในข้อความว่า
                     “ผรุสมรุตะพัดพาน    คลื่นฉฉ่าฉาน     
(อ่านว่า ผะ-รุ-สะ-มะ-รุ-ตะ-พัด-พาน       คฺลื่น-ฉะ-ฉ่า-ฉาน)
คนองฟอง”

ส่วนคำว่า วาท (อ่าน วา-ทะ) มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า คำพูด หรือถ้อยคำ เมื่อรวมกันเป็นคำว่า ผรุสวาท หมายถึง ถ้อยคำรุนแรง ซึ่งมักเป็นคำด่า คำหยาบ เช่น เวลาโกรธ เขามักลืมตัวและกล่าวคำผรุสวาทโดยไม่ระวังปาก.  การใช้ถ้อยคำผรุสวาทไม่ใช่วาจาของคนที่เป็นผู้ดี.

คำว่า ผรุสวาท มีใช้มานานแล้ว ดังปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเลเขียน ผะรุศวาศ (อ่าน ผะ-รุด-สะ-วาด) หมายถึง “พูดหยาบ, เปนสับท์แผลงแปลว่าคำหยาบ, คนโกรธขึ้นมาแลกล่าวคำด่าเปนต้นนั้น”

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒