“ผี” ในตราสามดวง

ตราสามดวง เป็นชื่อประมวลกฎหมายฉบับแรกแห่งสมัยรัตนโกสินทร์ กฎหมายตราสามดวงแบ่งเป็นพระไอยการต่าง ๆ  ได้ ๒๗ ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ พระไอยการลักษณรับฟ้อง ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีความสามารถและมีอำนาจฟ้องคดี  กำหนดลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้อง ลักษณะตัดสำนวนในกรณีที่ศาลรับฟ้องแล้ว ลักษณะตัดพยาน ลักษณะประวิงความหรือการหน่วงเหนี่ยวคดีให้ล่าช้า การกำหนดประเภทคดีและบุคคลที่สามารถเข้ามาฟ้องคดีหรือต่อสู้คดีแทนผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหา และการห้ามมิให้เข้ามาฟ้องคดีหรือสู้คดีแทนกันในคดีบางประเภท หรือเรียกว่าลักษณะว่าต่างแก้ต่างแทนกัน และในการกำหนดลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้องนี่เองที่เป็นที่มาของเรื่องในวันนี้    เนื่องจากตามพระไอยการรับฟ้องนั้น ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้องไว้ ๒๐ ประการ และในประการที่ ๒๐ นี้ได้กำหนดว่า “ถ้าแลอนาประชาราษฎรมีถ้อยคำร้องฟ้องศาลา แลฟ้องร้องเรียนกฎหมายโรงสารกรมใด ๆ …. อนึ่งเปนสัจว่าเปนฉมบจะกละกะสือ แลมาฟ้องร้องเรียนแก่มุขลูกขุนก็ดี … แลราษฎรผู้ต้องคะดีมีถ้อยคำตัดฟ้อง ๒๐ ประการนี้ท่านให้มุขลูกขุนพิภากษาตามบทพระไอยการพระราชกฤษฏีกา ถ้าต้องด้วยพระไอยการห้าม ๒๐ ประการนี้แล้วให้ยกฟ้องเสีย”  นั่นคือ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นฉมบ จะกละ กระสือ จริง ก็สามารถยกเหตุใดเหตุหนึ่งเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ผู้ตัดสินคดีพิจารณา มีผลให้คดีนั้นถูกยกฟ้องทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาคดี  แสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อนคงยังมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจอยู่มาก จึงได้มีปรากฏอยู่ในเอกสารของราชการ  แต่ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวอาจเลือนรางไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงอาจไม่รู้ว่า ฉมบ จะกละ และกระสือ  มีลักษณะอย่างไร  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔  อธิบายว่า ฉมบ หมายถึง ผีผู้หญิงที่ตายในป่าและสิงอยู่ในบริเวณที่ตาย มีรูปเห็นเป็น เงา ๆ แต่ไม่ทำอันตรายใคร, ชมบ หรือ ทมบ ก็ว่า   ส่วนจะกละและกระสือมีลักษณะอย่างไรนั้น ค้นหาความหมายได้ในพจนานุกรมฯ ค่ะ.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก