ผู้รักษาประตู

          จะเห็นได้ว่าตามสถานที่สำคัญ เช่น วัง โบสถ์ วิหาร มักจะมีภาพจิตรกรรมหรือภาพประติมากรรมอยู่ที่หน้าบานประตู ภาพเหล่านี้คือทวารบาลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาและป้องกันภูตผีปีศาจหรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลายไม่ให้เข้ามารบกวน

          ทวารบาลมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อของคนในยุคสมัยที่แตกต่างกัน และถ่ายทอดความเชื่อนั้นออกมาเป็นรูปธรรมคือทำเป็นภาพลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำเป็นภาพรูปเทวดา รูปยักษ์ รูปสัตว์ต่าง ๆ  นักรบ หรือขุนนางจีน

          เซี่ยวกางก็เป็นทวารบาลเช่นกัน คำ เซี่ยวกาง นี้ มีผู้อธิบายความหมายไว้ว่า คือผู้รักษาประตู เข้าใจว่ามาจากภาษาจีนอ่านว่า เซ่ากัง ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า ยืนยาม ตู้ยาม ซุ้มยาม และยังมีผู้สันนิษฐานว่า เซี่ยวกาง น่าจะมาจากคำ จิ้นกางเสี่ยว แล้วเรียกเพี้ยนไปเป็น เซี่ยวกาง ทวารบาลของจีนถือว่าเป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เชื่อกันว่าจะป้องกันภูตผีปีศาจไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาได้  เซี่ยวกางหรือเขี้ยวกางที่เป็นรูปเขียนหรือแกะสลักบนบานประตู จะมีลักษณะไม่เหมือนเทวดาไทย คือมีหนวดเครายาว ถืออาวุธด้ามยาว ส่วนมากอยู่บนหลังสิงโต ซึ่งตามคติของจีน สิงโตมีหน้าที่เฝ้าตามประตูศาสนสถาน เช่น วัด โบสถ์ ศาลเจ้า เซี่ยวกางก็มีหน้าที่อย่างเดียวกัน

          นอกจากรูปเซี่ยวกางแล้วบางทียังนิยมวาดรูปอวยซีจงและซินซกโป๊ไว้เป็นทวารบาลด้วย โดยมีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อพระเจ้าไท่จง (หลี่ซีบิ๋น) แห่งราชวงศ์ถังทรงประชวร ในขณะที่ทรงประชวร ทอดพระเนตรเป็นแต่ปีศาจเป็นเนืองนิจ จึงให้นายทหารเอกชั้นผู้ใหญ่ ๒ นายคืออวยซีจงและซินซกโป๊มายืนเฝ้าหน้าห้องบรรทม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีนิยมในการวาดรูปของอวยซีจงและซินซกโป๊ไว้ ๒ ข้างประตูวัดและศาลเจ้า

          หากต้องการเห็นทวารบาลที่ทำเป็นรูปแปลก ๆ เช่น เป็นรูปฝรั่งกับแขกเปอร์เซียเหน็บอาวุธอย่างสวยงามจะดูได้ที่วัดสระเกศ เป็นภาพทหารไทยในเครื่องแต่งกายแบบต่าง ๆ ต้องดูที่บานประตูกำแพงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทหรือที่บานประตูกำแพงวัดราชบพิตร ถ้าเป็นภาพเซี่ยวกางดูได้ที่บานประตูพระมณฑปในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) 

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์