พรรณ พันธุ์

          พรรณ หมายความว่า ชนิด ใช้กับคำว่าพืช เป็น พืชพรรณ เพราะไม่ปรากฏเป็นวงศ์ญาติ เช่น พรรณข้าว พรรณปลา

           พันธุ์ หมายความว่า เผ่าพงศ์ ใช้กับคำว่า เผ่า เป็นเผ่าพันธุ์ กับคำว่า พงศ์ เป็นพงศ์พันธุ์

           มีที่สังเกตว่า ถ้าใช้กับคนเป็น เผ่าพันธุ์ พงศ์พันธุ์ ใช้กับสัตว์หรือต้นไม้เป็นพรรณ พืชพรรณ

           ทีนี้ในคนนั้นเอง ถ้าไม่ได้หมายความทางเผ่าพงศ์ แต่หมายความทางพืชพรรณ เช่นพูดว่ามนุษย์สืบพืชพรรณของมนุษย์ ดังนี้แล้ว ก็ใช้เป็นพรรณ ได้

           ต่อมาที่ประชุมได้หยิบยกเรื่อง พรรณ พันธุ์ ขึ้นพิจารณาอีกและกรรมการแต่ละท่านได้แสดงความเห็นดังต่อไปนี้:-

           กรรมการผู้หนึ่งแสดงความเห็นว่า อันที่จริงคำซึ่งแปลว่า เผ่าพันธุ์นั้น ข้าพเจ้าเองมีความเห็นว่า เป็นคำไทยซึ่งเห็นได้ในภาษาอะหม และอันที่จริงควรจะเขียนว่า “พัน” ความหมายจึงได้ทั้งคนและสัตว์และต้นไม้ ข้าพเจ้าไม่มีพจนานุกรมอะหมอยู่ที่กระทรวง จึงไม่สามารถจะคัดข้อความมาได้ แต่ถ้าทางคณะกรรมการพลิกพจนานุกรมอะหมดูแล้ว จะเห็นว่ามีคำดั่งที่ข้าพเจ้าว่า เพราะข้าพเจ้าจำได้แน่ว่าเคยค้นพบ

           การที่ข้าพเจ้ากล่าวข้อความข้างต้นนี้ ก็มีความประสงค์เพียงเฉพาะจะแสดงให้เห็นว่า ด้วยเหตุใด คำว่า “พัน” หรือ “พันธุ์” มีนัยกว้างขวาง ใช้ได้หลายทาง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้แก้ตัวสะกดซึ่งนิยมใช้กันอยู่ (ส่วนเรื่องคำว่า “พันธุ์” กับ “พันธ์” –ผูกพันธ์ – นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะไม่พิจารณาในที่นี้)

           คำว่า “พันธุ์” กับ “พรรณ” นั้น จะเห็นความหมายได้จากตัวสะกดนั้นเอง “พันธ์” หมายความว่า ต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้น หมายความถึงเชื้อสายอันเนื่องจากกำเนิด เพราะฉะนั้น คำว่า “เผ่าพันธุ์” ที่เขียนว่า “พันธุ์” นั้น เป็นอันถูกต้องแล้ว ส่วน พรรณ นั้นตามศัพท์หมายถึงสีตามความหมายก็คือ ชนิด ซึ่งแต่เดิมเนื่องมาจาก สี แต่บัดนี้ อาจจะนิยมอย่างอื่นกว่าสี ก็ได้ความหมายก็คงได้แก่ชนิด นั่นเอง แต่ ชนิด ทั้งนี้มิได้หมายถึงกำเนิด

           ขอซักตัวอย่าง “พันธุ์ข้าว” และ “พรรณข้าว” พันธุ์หมายถึงพืช (seed) พันธุ์ข้าวจึงหมายถึง seed คือ พืชข้าว “พรรณข้าว” ถ้าใช้ก็หมายความถึงชนิดต่าง ๆ ของข้าว เช่น variety ของข้าวเป็นต้น แต่โดยเหตุที่คำว่า “พันธุ์” กับ “พรรณ” เสียงเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เราควรจะใช้ “พันธุ์ข้าว” เท่านั้น ถ้าจะใช้ชนิด ของข้าวโดยนัย variety แล้วควรจะใช้ “วิกัติ” เป็นอันว่าเราไม่ควรใช้ “พรรณข้าว” โดยนัยหมายความว่า seed หรือพืชของข้าว

           คำว่า “พืชพันธุ์” และ “พืชพรรณ” ถ้าจะเขียนว่า “พืชพันธุ์” แล้ว ก็มีความหมายเหมือนกัน คือ หมายถึงเชื้อสาย หรือ กำพืด แต่ถ้าใช้ว่า พืชพรรณ แล้ว หมายถึงชนิดสิ่งที่มีชีวิตเนื่องจากพืช หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง พรรณไม้

           ตามที่ได้ตกลงไว้ว่า “พรรณ” หมายความว่าชนิด “พันธุ์” หมายความว่า เผ่าพงศ์นั้น เป็นอันถูกต้องแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องขยายความ เผ่าพงศ์ ให้กว้างออกไป ให้รวมถึงสัตว์และต้นไม้ด้วย คือตรงกับ breed หรือ seed ด้วย ตัวอย่างที่ให้ไว้ตอนท้ายว่า “มนุษย์สืบพืชพรรณของมนุษย์” นั้น อันที่จริงก็เขียนได้ทั้งสองทาง แต่มีความหมายต่าง ๆ กัน ถ้าเขียนว่า “สืบพืชพันธุ์” ก็หมายความว่า สืบเชื้อสายหรือเชื้อชาติ (race) ถ้าเขียนว่า “สืบพืชพรรณ” แล้วหมายความว่าสืบชนิด หรือ species

           ส่วนตัวอย่างที่เป็นปัญหาที่ว่า “ม้า พันธุ์ สเปนขาว คอหนา เหมือนม้าเรา มันหัดดีแท้ ๆ สืบ พืชพันธุ์ มา ๓๐๐ ปี เศษ” นั้น ไม่ขัดกับความเห็นที่ข้าพเจ้าเสนอนี้เลย คือ หมายความว่า ม้าเชื้อสายสเปน (breed) สืบพืชพันธุ์ ก็ breed เหมือนกัน เห็นว่าสะกดถูกแล้วเพราะความหมายบ่งถึงกำเนิดของม้า ไม่ใช่หมายความถึงแบ่งชนิด โดยอาศัยเกณฑ์อื่นนอกจากกำเนิด คือ หมายความว่า ไม่ใช่จำแนกสีเป็นต้น

           ตามที่ข้าพเจ้าว่ามานี้ เชื่อว่าจะเห็นความหมายแห่ง “พันธุ์” กับ “พรรณ” ต่างกันอย่างไรแล้ว แต่โดยเหตุที่เสียงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการนิยมใช้เพื่อที่จะป้องกันมิให้เข้าใจผิด ก็ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่กรณีด้วย

           กรรมการอีกผู้หนึ่งแสดงความเห็นว่า พรรณ และ พันธุ์ สองศัพท์นี้ มีมูลและธาตุมาอย่างไร ขอผู้ถนัดรู้ถนัดเห็นโปรดอธิบาย ข้าพเจ้าเพียงขอเสนอเฉพาะความเข้าใจ ดั่งต่อไปนี้:-

           “พรรณ” คือ วรรณ หมายถึง ผิว สี รูป เพศ เช่น ผิวพรรณ สีสันวรรณ รูปพรรณ.

           “พันธุ์” หมายถึง เชื้อสาย เทือกเถา เหล่ากอ เช่น พงศ์พันธุ์ พืชพันธุ์ สืบพันธุ์.

           คำว่า “เพาะพันธุ์ปลา” “พันธุ์ข้าวปลูก” “ผสมพันธุ์ม้า”

           “เพาะพันธุ์ปลา” คือ เอาปลาพรรณใดพรรณหนึ่ง ผสมกันให้ได้เกิดปลาที่ดีหรือที่ต้องการ เพื่อเป็นพันธุ์ สืบเชื้อสายต่อไป

           “พันธุ์ข้าวปลูก” คือเอาข้าวพรรณใดพรรณหนึ่ง มาเพาะปลูกในตำบลต่าง ๆ เพื่อให้พืชชนิดนั้นแพร่หลาย หรือข้าวสำหรับปลูกก็เรียก

           “ผสมพันธุ์ม้า” คือ เอาม้าพรรณใดพรรณหนึ่ง มาผสมกันให้เกิดลูกเป็นม้าอย่างดีหรืออย่างที่ต้องการ เพื่อเป็นพันธุ์ต่อไป

           แต่ยังไม่เข้าใจว่า ส่วนแก่ปลา ไยจึ่งใช้คำ “เพาะ” ส่วนแก่ ม้า ไยจึ่งใช้คำ “ผสม”

           น่าจะเป็นว่า ส่วนแก่ปลานั้น เพราะเหตุปลารัดกันเองโดยลำพังได้ คนไม่ต้องช่วยเหมือนเอาเมล็ดข้าวไปกล้าไว้ ก็งอกขึ้นเอง จึ่งเรียกว่าเพาะ ส่วนแก่ม้า นั้น คนมีส่วนช่วยจับช่วยจูง จึ่งเรียกว่า “ผสม” ฉะนี้กระมัง

           ประโยคว่า :-

           ๑. ม้าพรรณนี้ ไม่มีกำลัง วิ่งไม่ทน
           ๒. ม้าพันธุ์นี้ ไม่มีกำลัง วิ่งไม่ทน

          รูปประโยคอย่างเดียวกัน แต่ความหมายต่างตามรูปศัพท์ “พรรณ” หรือ “พันธุ์”

           ความสำคัญของประโยค ๑. อยู่ที่ลักษณะสามัญ คือ รูปร่างแห่งม้า

           ความสำคัญของประโยค ๒. อยู่ที่ลักษณะพิเศษ คือ เหล่ากอแห่งม้า ลักษณะพิเศษย่อมเกิดแต่ลักษณะสามัญ หรือลักษณะพิเศษเป็นส่วนเฉพาะ ลักษณะสามัญเป็นส่วนรวม

           ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า “พรรณ” และ “พันธุ์” สองศัพท์นี้ มีความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องบัญญัติอย่างไรเพิ่มเติมลงอีก

           กรรมการผู้หนึ่งว่า คำว่า พรรณ กับ พันธุ์ ตามที่นิยามไว้ ในปทานุกรมฉบับเก่าพอชี้ทางวิธีใช้ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าศัพท์นี้ใช้แก่มนุษย์ ศัพท์นี้ใช้แก่สัตว์

           กรรมการอีกผู้หนึ่งว่า “พรรณ ชนิด” ได้แก่ชนิดของบุคคลของสัตว์ และของพฤกษชาติทั่วไป ควรใช้ พรรณ ในเมื่ออ้างถึงชนิดของสิ่งนั้น และพรรณนี้เอง ถ้าพูดถึงในเมื่อจะให้มันสืบกำเนิดต่อไปหรือพูดถึงว่ามันสืบมาจากพรรณไหน ในที่อ้างเช่นนั้นควรใช้ พันธุ์ คือ ต้องการให้มันเป็นเชื้อ หรือเชื้อของมัน แต่ความหมายในชั้นมนุษย์เฉพาะภาษาไทย เมื่ออ้างถึงคำนี้มักหนักไปทาง พันธุ์ ไม่ใช่ พรรณ

           กรรมการผู้หนึ่งว่า “พันธุ์” ในบาลีมีที่ใช้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับคน เช่น ญาติพนฺธุ โคตฺตพันฺธุ มิตฺตพนฺธุ สิปฺปพนฺธุ ไม่ใช่กับสัตว์และต้นไม้ ทั้งนี้ด้วยความเอื้อเฟื้ออธิบายของกรรมการผู้หนึ่ง

           พันธุ์ ในไทย แต่เดิมมาก็คงใช้เฉพาะที่เกี่ยวกับคน ดังปรากฏในตำราไวพจน์ประพันธ์ของเก่ามีว่า “พวกพ้องเผ่าพันธุ์พงศ์นาม มคธสยาม มาข้องระคนปนคำ ฯ พันธุ์พวกพ้องควรสำ เหนียก ธุประจำ การันต์ต้องเสริม เติมปลาย ฯ”

           บัดนี้ เห็นใช้กับสัตว์และต้นไม้ก็มี ขอซักตัวอย่าง เช่น ม้า โค และสุนัขเป็นต้น ถ้ามีรูปพรรณต้องด้วยลักษณะนิยมแล้ว มักสอบสวนพิจารณาย้อนหลังไปถึงพ่อม้าและแม่ม้านั้นด้วยให้รู้ว่าสืบพืชพันธุ์มาด้วยลักษณะอย่างไร เคยเห็นพันธุ์สุนัขที่ต้องด้วยลักษณะนิยม ซื้อขายกันด้วยราคาสูง ผู้ขายมีทะเบียนให้ดู ทำคล้ายบัญชีเครือญาติแสดงว่าสืบกำเนิดมาแต่พันธุ์ที่ดีอย่างไร

           โดยอาการอย่างเดียวกันกับที่กล่าวมานี้ พันธุ์ ใช้กับพรรณไม้และเมล็ดข้าวก็ได้ เช่นสักทองป่าแม่แจ่มเป็นพันธุ์ไม้ที่ดีมีค่าสูง หรืออีกนัยหนึ่งข้าวปิ่นทองนครชัยศรีเป็นนิยมว่าดีเยี่ยมเอาเมล็ดไปปลูกในพื้นที่ที่ผิดแปลกดินฟ้าอากาศ ไม่สืบพันธุ์ดีงามเหมือนพันธุ์เมล็ดที่เอาไปปลูก

           พรรณ หมายถึงสี ซึ่งอาจจัดสรรเป็นชนิดต่าง ๆ กัน ไม่หมายถึงการสืบเนื่องซึ่งกันและกัน ใช้ได้ทั่วไปในกรณีที่เกี่ยวกับคนสัตว์และต้นไม้

           พันธุ์ พรรณ มีความต่างกัน จะใช้อย่างไรต้องแล้วแต่ความหมาย ในกรณีที่ใช้เมื่อพิจารณาดังกล่าวมานี้รู้สึกว่าข้อสังเกตที่ลงไว้ในรายงานเดิมต้องยกเสีย หรือมิฉะนั้นก็ขยายความเพิ่มเติม

           กรรมการอีกผู้หนึ่งว่า ตามที่ตกลงกันไว้แต่เดิมนั้น ชอบแล้ว เห็นยังขาดอีกนิดเดียว ตรงที่ว่า ในคนนั้นเอง ถ้าหมายความทางพืชพรรณก็ใช้เป็น พรรณ ได้ ดังนี้ ตามที่เราพูดกันอยู่เสมอ ความที่เราจะใช้ พรรณ กับคน ไม่จำเพาะแต่หมายความทางพืชพรรณ แม้ถึงหมายทางชนิดเราก็พูดว่า พรรณ เหมือนกัน เช่น พูดกันว่า “คนพรรณนี้ ก็มีด้วย” ดังนี้เป็นต้น จึ่งเห็นควรจะแก้ความตอนนี้ให้ใช้ได้ตลอดไป ดังนี้ ว่าถ้าไม่ได้หมายความทางเผ่าพงศ์ แต่หมายความทางชนิด เช่น พูดว่ามนุษย์สืบพืชพรรณของมนุษย์ ดังนี้แล้วก็ใช้เป็นพรรณได้ นี้เฉพาะคน ส่วนที่เป็นสัตว์หรือต้นไม้ไม่มีทางจะใช้พันธุ์เลย

           กรรมการผู้หนึ่งว่า ไม่ว่ามนุษย์ไม่ว่าสัตว์ตลอดจนสิ่งที่มีชีวิตอื่น เช่น ต้นหมากรากไม้ บรรดาที่สังวาสกันเกิดลูกหลานออกมา ลูกหลานนั้นเรียกว่า “พันธุ์” ทั้งนั้น

           กรรมการอีกผู้หนึ่งว่า คำว่า “พันธุ์” นี้เมื่อพูดตามหลักเดิมที่ใช้แล้ว ใช้สำหรับคนอย่างเดียว เช่น ญาติพนฺธุ โคตฺตพนฺธุ มิตฺตพนฺธุ สิปฺปพนฺธุ สัตว์ก็ดี สิ่งของก็ดี ไม่ใช้ว่าพันธุ์ เลย แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจะนำมาใช้แต่ศัพท์ ส่วนความหมายเดิมจะไม่นำมาใช้ด้วยหรืออย่างไรแล้วแต่จะบัญญัติกัน จะอย่างไรก็ตามขออย่าให้ลำบากเมื่อใช้ เช่นว่าประกวดพรรณม้าหลายชนิด เราไม่รู้จะแยกเขียนอย่างไร

           กรรมการผู้หนึ่ง รับรองและเสนอต่อไปว่า ภาษาไทยไม่ได้เอาศัพท์เดิมมาใช้แต่ศัพท์ รักษาอรรถเดิมด้วย คน ใช้ได้ทั้งสองอย่างคือ พรรณกับพันธุ์ ส่วนสัตว์ ใช้พรรณ อย่างเดียวพอแล้ว ชาติก็คือชนิด สืบพรรณก็คือสืบชนิดนั่นเอง

           เจ้าหน้าที่เสนอว่า คำว่า พันธุ์ ในคำว่า อวัยวะสืบพันธุ์ จะเขียนอย่างไรดี

           กรรมการผู้หนึ่งเสนอว่า ควรเขียน พันธุ์ เพราะอวัยวะนั้นเป็นเครื่องสืบเผ่าพันธุ์

           กรรมการอีกผู้หนึ่ง ยังคงเห็นว่าใช้ พรรณ ดีกว่า เพราะในที่นั้นไม่ต้องไปเล็งความถึงเผ่าพันธุ์ หมายความถึงชนิดเท่านั้น เพราะใช้คำ สืบอยู่แล้ว

           กรรมการผู้หนึ่งว่า พันธุ์ หมายความเป็นญาติ ถ้าเขียนเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ก็หมายว่าอวัยวะสืบญาติ ก็ไม่ได้เรื่องราวอันใด ถ้าใช้เป็นอวัยวะสืบพรรณ ก็หมายความว่าอวัยวะสืบชนิดยังจะได้ความบ้างว่าสืบชนิดของเดิม

           ที่ประชุมได้ปรึกษาหาหลักฐานเกี่ยวด้วยเรื่องนี้พอสมควรแล้ว ในที่สุดลงมติว่าพันธุ์ใช้ในที่ซึ่งเป็นพืชได้ ส่วน พรรณ ใช้ในที่ซึ่งเป็นชนิดอย่างเดียว.

ที่มา : จากหนังสือความรู้ทางอักษรศาสตร์