พระกริ่ง

          หนึ่งในพระพุทธรูปองค์เล็กที่บรรดาผู้นิยมพระเครื่องมักจะมีไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัว คือ พระกริ่ง  เพราะเหตุใดพระกริ่งจึงได้รับความนิยมนับถือกันว่าเป็นพระเครื่องรางของขลัง  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑  มีคำตอบ

          พระกริ่ง เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่นำพระธาตุหรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าบรรจุไว้ข้างใน แล้วอุดฐานด้านล่างไว้  เมื่อเขย่าจะมีเสียงดัง กริ่ง ๆ  จึงเรียกกันว่า พระกริ่ง    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยมีพระนิพนธ์เรื่องพระกริ่งไว้ในหนังสือนิราศนครวัดว่า เป็นของฝีมือช่างจีนทั้งนั้นมีทั้งอย่างดำและเหลือง ขุดพบมากที่ประเทศกัมพูชา

          พระกริ่ง เป็นพระปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลา ถือหม้อน้ำมนต์ หรือดอกบัว หรือพฤกษชาติที่เป็นยารักษาโรคเช่นผลสมอ  หากเป็นพระกริ่งที่ได้มาจากประเทศกัมพูชา เรียกกันว่า กริ่งพระปทุม  หากเป็นพระกริ่งที่ขุดพบบนยอดเขาพนมบาเกงในประเทศกัมพูชา จะเรียกว่า กริ่งอุบาเกง   ในขณะที่ผู้นิยมเล่นพระเครื่องหรือที่เรียกกันว่านักเลงพระเครื่องจะเรียกกันว่า กริ่งใหญ่ และกริ่งอุบาเกง 

          ในประเทศไทยพบว่ามีพระกริ่งที่ทำตามแบบกริ่งพระปทุม คือ  กริ่งวัดสุทัศน์ และ กริ่งพระปวเรศ ซึ่ง ด้านหลังมีกลีบบัวหนึ่งกลีบ   นอกจากนี้ ยังมีกริ่งลาวหรือกริ่งเขมรที่ผู้นิยมพระเครื่องจะเรียกกันว่า กริ่งตั๊กแตน   รวมทั้งพระกริ่งที่วัดต่าง ๆ ทำขึ้น เช่น กริ่งวัดบวร (ด้านหลังมีบัวรอบ)  กริ่งวัดตรีทศเทพ (หลังมีกลีบบัว ๒ กลีบ)  กริ่งวัดดอน  กริ่งวัดราชบพิธ  โดยในการจัดทำพระกริ่งมักจะนิยมทำกันในวันดีคืนดีของปีทางไสยศาสตร์ เช่น เสาร์ ๕.

        กนกวรรณ  ทองตะโก