พระนิรันตราย

          หนึ่งในพระพุทธรูปที่มีความสำคัญมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริแบบอย่างให้สร้างขึ้น คือ พระพุทธรูปนิรันตราย  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๕  เล่าความเป็นมาไว้ว่า

          เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙  กำนันอินผู้อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ฝันว่าจับช้างเผือกได้  ต่อมานายอินไปขุดมันนกกับนายยังลูกชายที่ชายป่าศรีมหาโพธิ์  พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำจึงนำมามอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทราเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงให้เก็บรักษาไว้ ณ หอเสถียรธรรมปริต กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย

          ต่อมา พ.ศ. ๒๔๐๓ มีผู้ร้ายลักพระกริ่งองค์น้อยซึ่งตั้งอยู่กับพระทองคำองค์นั้นไป  จึงทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินกับบุตรทูลเกล้าฯ ถวายเป็นทองคำขนาดใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่ผู้ร้ายจะลักไปก็เผอิญให้แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง ตั้งแต่เมื่อขุดพบก็ไม่ทำอันตรายเสียหาย น่าอัศจรรย์ จึงทรงถวายนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระนิรันตราย  แล้วทรงดำริให้เจ้าพนักงานหล่อพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร ต้องตามพระพุทธลักษณะ หน้าตัก ๕ นิ้วกึ่ง ด้วยทองคำ สวมพระพุทธรูปนิรันตรายองค์นั้นอีกชั้นหนึ่ง และให้หล่อด้วยเงินไล่ให้บริสุทธิ์เป็นคู่กันอีกองค์หนึ่ง 

          กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกับพระพุทธรูปเงินซึ่งสวมพระนิรันตรายด้วยทองเหลืองกาไหล่ทองคำ มีเรือนแก้วอยู่เบื้องหลังเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ ทั้งหมด ๑๘ องค์ เท่ากับจำนวนปีที่ดำรงสิริราชสมบัติ เพื่อพระราชทานไปตามวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายวัดละองค์  และดำริว่าจะทรงหล่อปีละองค์พร้อมกับเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่พระพุทธรูปไม่ทันแล้วเสร็จ ยังไม่ได้กาไหล่ทอง เสด็จสวรรคตเสียก่อน   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างกาไหล่ทองคำพระพุทธรูปให้เสร็จสมบูรณ์  แล้วจึงพระราชทานไปตามวัด มีวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น ตามพระบรมราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

       กนกวรรณ  ทองตะโก