พระราชอาคันตุกะ

          อาคันตุกะ เป็นคำนาม มีความหมายว่า แขกผู้มาหา คำว่า แขก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่เป็นกษัตริย์และเจ้านายของต่างประเทศ หรือผู้นำประเทศที่เป็นสามัญชน เช่น ประธานาธิบดี ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชอาคันตุกะแต่หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นแขกของผู้นำประเทศที่เป็นสามัญชน เช่น ประธานาธิบดี ใช้ประโยคที่เป็นราชาศัพท์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นอาคันตุกะของประธานาธิบดี (ระบุนาม) แห่ง (ระบุชื่อประเทศ) หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นแขกของกษัตริย์ต่างประเทศ ใช้ประโยคที่เป็นราชาศัพท์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นพระราชอาคันตุกะของกษัตริย์ (ระบุพระนาม) แห่ง (ระบุชื่อประเทศ)

          เมื่อเขียนถึงการใช้คำว่า อาคันตุกะ และ พระราชอาคันตุกะ แล้ว ก็เห็นว่าน่าจะได้เขียนถึงการเลี้ยงอาหารไปพร้อมกัน เนื่องจากมักมีข้อสงสัยกันว่าหากสามัญชนเช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี จัดเลี้ยงอาหารถวายพระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย ควรใช้ราชาศัพท์อย่างไร หากกษัตริย์ของต่างประเทศทรงเลี้ยงอาหารพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย ควรใช้ราชาศัพท์อย่างไร และในทางกลับกัน หากพระมหากษัตริย์ไทยทรงเลี้ยงอาหารกษัตริย์หรือเจ้านายของต่างประเทศ ใช้ราชาศัพท์อย่างไร เมื่อทรงเลี้ยงอาหารแก่สามัญชน เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี คณะบุคคล จะใช้ราชาศัพท์อย่างไร การใช้ราชาศัพท์กรณีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้มีหลักเกณฑ์อยู่ว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงเลี้ยงอาหารกษัตริย์ต่างประเทศ ใช้ราชาศัพท์ว่า ถวายเลี้ยงพระกระยาหาร เช่น ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ซึ่งหากทรงเลี้ยงอาหารเจ้านายของต่างประเทศในระดับรองลงไป ใช้ว่า พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหาร ในทำนองเดียวกันหากกษัตริย์ต่างประเทศทรงเลี้ยงอาหารพระมหากษัตริย์ไทย ใช้ราชาศัพท์ว่า ถวายเลี้ยงพระกระยาหาร ซึ่งหากทรงเลี้ยงอาหารเจ้านายของไทยในระดับรองลงไป ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหาร แต่ถ้าเจ้านายทั้งของไทยและของต่างประเทศหรือสามัญชน เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี  ถวายเลี้ยงอาหารพระมหากษัตริย์ไทย หรือกษัตริย์ต่างประเทศ ใช้ราชาศัพท์ว่า ถวายเลี้ยงพระกระยาหาร ซึ่งหากพระมหากษัตริย์หรือกษัตริย์ทรงเลี้ยงอาหารสามัญชนเป็นต้นว่าผู้นำประเทศ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ราชาศัพท์ใช้ว่า พระราชทานเลี้ยงอาหาร การจะเลือกใช้คำว่า อาคันตุกะ หรือ พระราชอาคันตุกะ หรือการจะใช้วลีว่า พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหาร พระราชทานเลี้ยงอาหาร หรือ ถวายเลี้ยงพระกระยาหาร จึงควรทำความเข้าใจให้ดีและพิจารณาเลือกใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องเหมาะสมกับบริบท.

  สุปัญญา  ชมจินดา