พระราหุล

          ช่วงเวลาปิดเรียนภาคปลายที่ค่อนข้างนานหลายเดือน นักเรียนชายหลายคนเลือกที่จะบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อนเพื่อศึกษาพระธรรม การบรรพชาเป็นสามเณรนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท “ห้ามมิให้ภิกษุบวชผู้ที่บิดามารดายังไม่อนุญาต” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่าไว้ว่า

          เมื่อพระสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ได้เสด็จออกประกาศพระศาสนาในเมืองพาราณสีและเมืองราชคฤห์ จนมีสาวกเป็นจำนวนมากแล้วจึงได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติในเมืองกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระเจ้าสุทโธทนะ

          ในวันที่ ๗ นับจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จถึงนครกบิลพัสดุ์ พระราหุลกุมารได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะทรงฉันภัตตาหารอยู่ที่พระราชวังหลวง เพื่อทูลขอเป็นทายาทรับพระราชมรดกจากพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์มิได้ตรัสอะไรกับพระราหุลกุมาร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันภัตตาหารเสร็จก็เสด็จกลับนิโครธาราม พระราหุลกุมารจึงตามเสด็จและเฝ้าทูลรบเร้าขอเป็นทายาทให้ได้ เมื่อเสด็จถึงที่ประทับ พระองค์จึงตรัสให้พระสารีบุตรนำพระราหุลกุมารไปบรรพชาเป็นสามเณร เพราะทรงเห็นว่าสมบัติที่พระราหุลกุมารขอนั้นไม่จีรังยั่งยืนและไม่ประเสริฐเท่าอริยทรัพย์ที่ทรงค้นพบใหม่ และผู้ที่ได้บรรพชาจึงจะชื่อว่าเป็นทายาทในอริยทรัพย์นั้น โดยทรงกำหนดให้บรรพชาเป็นสามเณรด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ คือให้เปล่งวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ซึ่งเป็นวิธีถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

          เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวการบรรพชาของสามเณรราหุล ก็เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลขอพรว่า ต่อไปนี้ ถ้าผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน ขออย่าให้ผู้นั้นบวชเลย ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามที่ขอ และทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุบวชผู้ที่บิดามารดายังไม่อนุญาต.

กนกวรรณ ทองตะโก