พิธีศพ

          ท่านผู้อ่านที่เคยไปงานศพจะคุ้นกับคำที่ใช้ในพิธีซึ่งมีอยู่หลายคำ เช่น ฌาปนกิจ สวดพระอภิธรรม บังสุกุล  คำเหล่านี้มีผู้สอบถามถึงการใช้และความหมายกันอยู่เสมอ ๆ  และอาจใช้ผิดกันอยู่บ่อยครั้ง  จึงนำนิยามความหมายคำเหล่านั้น ที่ปรากฏใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาเสนอให้ได้ทราบ เพื่อจะได้ใช้ให้ถูกต้อง ดังนี้

          สวดพระอภิธรรม มีที่มาจากคำว่า อภิธรรม ซึ่งเป็นชื่อปิฎกหนึ่งในพระไตรปิฎก ประกอบด้วย ๑. พระวินัยปิฎก ๒. พระสุตตันตปิฎก ๓. พระอภิธรรมปิฎก  ซี่งพระอภิธรรมปิฎกเป็นชื่อธรรมะชั้นสูงซึ่งมีอยู่ ๗ คัมภีร์ คือ ๑. สังคณี ๒. วิภังค์ ๓. ธาตุกถา ๔. ปุคคลปัญญัติ ๕. กถาวัตถุ ๖. ยมก ๗. ปัฏฐาน นิยมนำคัมภีร์ทั้ง ๗ นี้มาใช้สวดในงานศพ  การสวดนี้เรียกว่า สวดพระอภิธรรม ไม่ใช่ สวดพระอภิธรรมศพ

          ฌาปนกิจเป็นคำนาม หมายถึงการเผาศพ  ก่อนฌาปนกิจจะมีการทอดผ้าบังสุกุล  ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือเป็นผ้าที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือทอดบนผ้าภูษาโยง ที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐาน  การที่มีพิธีชักผ้าบังสุกุลนั้นเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาลผู้ที่ออกบวชเป็นพระภิกษุคือผู้ที่ละซึ่งกิเลสทั้งปวง และออกไปบำเพ็ญศีลอยู่ในป่า ดังนั้นจึงไม่คำนึงว่าทั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่มต้องเป็นแบบไหน มาจากที่ใด  จึงบิณฑบาตเพื่อขอรับอาหาร  แต่การจะหาผ้ามาทำเป็นสบงจีวรนุ่งห่มนั้นค่อนข้างยาก  ดังนั้นเมื่อมีคนตายญาติจะนำศพห่อผ้าขาวแล้วนำไปทิ้งไว้ในป่า พระภิกษุจะไปชักผ้าขาวที่ใช้ห่อศพมาซักและย้อมสีจากเปลือกไม้เพื่อใช้ห่มใช้ครอง  ก่อนการชักผ้าจากศพจึงต้องปลงกรรมฐานก่อน  แต่ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุหาง่าย  ในพิธีต่าง ๆ รวมทั้งพิธีศพเจ้าภาพจึงจัดเตรียมผ้าบังสุกุลไว้เพื่อทอดผ้าบังสุกุลให้แก่พระภิกษุที่มาทำพิธี  กิริยาที่พระภิกษุชักผ้าบังสุกุลเรียกว่า ชักบังสุกุล มิใช่ ชักผ้าบังสุกุล  คำ บังสุกุล นี้ มีผู้ใช้เป็นภาษาปากว่า บังสกุล  ซึ่งก็ไม่ผิด

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์