พิพิธภัณฑสถาน

          พิพิธภัณฑสถาน หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้นิยามคำ พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน  [พิพิดทะพัน –พันทะสะถาน] ว่าเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๑ บอกเล่าประวัติของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ว่าเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” เป็นพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกจากชื่อพระที่นั่งนี้

          พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม) ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า “มิวเซียม” จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภททั่วไป

          ในรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานศิลปโบราณคดี จัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์นี้เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แทน “มิวเซียม” ตั้งแต่นั้นมา

          ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครจึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗.

รัตติกาล  ศรีอำไพ