พีพีพี

          พีพีพี  ในที่นี้หาใช่ชื่อย่อของ  คณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP Committee) หรือ สำนักงานความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP Unit)  ที่ตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลไม่  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลจัดการดีกว่า เพราะราชบัณฑิตยสถานมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย  วันนี้จึงขอเสนอคำว่า พีพีพี (ppp)  ที่ย่อมาจาก purchasing power parity  หรือที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติศัพท์ไว้ว่า ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ  หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับแวดวงเศรษฐกิจก็คงจะงงบ้างเล็กน้อยว่า หมายถึงอะไร  วันนี้ราชบัณฑิตยสถานมีคำตอบมาเล่าสู่กันฟัง

          พีพีพี (ppp) หรือ ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ  (purchasing power parity)  หมายถึง  ทฤษฎีที่อธิบายถึงวิธีการอย่างหนึ่งในการประมาณค่าอัตราแลกเปลี่ยนสมดุลหรืออัตราแลกเปลี่ยนเสมอภาคระหว่างเงินตรา ๒ สกุล ว่าควรจะเป็นเท่าไร เพื่อใช้ซื้อขายสินค้าประเภทเดียวกันในแต่ละประเทศ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะยังไม่คำนึงถึงค่าขนส่งและภาษีในการค้าระหว่างประเทศ  ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อจะแสดงให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตรา ๒ สกุลสะท้อนถึงอำนาจซื้อที่เท่ากันของเงินตราทั้ง ๒ สกุลนั้น เช่น ถ้าอำนาจซื้อของเงินตราสกุลหนึ่งเป็น ๒ เท่าของเงินตราอีกสกุลหนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนสมดุลระหว่างเงินตราสกุลแรกกับเงินตราสกุลหลังจะเท่ากับ ๑ : ๒ ซึ่งหมายความว่า เงินตราสกุลแรก ๑ หน่วย มีค่าเท่ากับเงินตราสกุลหลัง ๒ หน่วย  การกำหนดภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ มี ๒ แนว คือ  ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อแบบสัมบูรณ์ (absolute PPP)  กับ  ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อแบบสัมพัทธ์ (relative PPP)  ส่วนรายละเอียดการคำนวณนั้นคงต้องให้ท่านผู้อ่านเดลินิวส์ติดตามอ่านในหนังสือพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่จะพิมพ์เผยแพร่ในเร็ววันนี้ นะคะ.

      จินดารัตน์  โพธิ์นอก