พี่เลี้ยง

          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พี่ หมายถึงผู้ที่มีอายุมากกว่า ไม่ว่าจะมากกว่าเนื่องจากเป็นพี่น้องคลานตามกันมาโดยสายโลหิต หรือเป็นความเคารพนับถือกันในสังคมก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อธิบายว่า พี่ หมายถึง ผู้ร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันและเกิดก่อน ผู้ที่มีศักดิ์เสมอพี่ หรือหมายถึง คํานําหน้าชื่อคนที่มีอายุคราวพี่หรือมีศักดิ์เสมอพี่ เช่น พี่แดง พี่ส้ม และยังมีคำที่เกี่ยวเนื่องกับคำว่า พี่ อีกหลายคำ เช่น พี่เลี้ยง หมายถึง ผู้มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก หรือหมายถึง ผู้ทำหน้าที่ดูแล ให้คำปรึกษา หรือช่วยเหลือเป็นต้น เช่น พี่เลี้ยงนักมวย พี่เลี้ยงผู้เข้าประกวด

          ในทางการศึกษา พี่เลี้ยง มีความสำคัญมากเช่นกัน คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย อธิบายว่า พี่เลี้ยง (mentor) หมายถึง ผู้ให้คำปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ จัดกระบวนการแนะนำวิธีการปฏิบัติงานด้วยจิตใจยินดีช่วยเหลือผู้รับการแนะนำอย่างจริงใจ มุ่งผลสำเร็จของงาน จัดกระบวนการเสริมพลัง สร้างกำลังใจให้บุคคลเห็นแนวทาง กล้าฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็ง ช่วยให้สามารถปฏิบัติงานหรือช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองต่อไป กระบวนการเป็นพี่เลี้ยง (mentoring process) มีความสำคัญมากทั้งในการผลิตบัณฑิต การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การนิเทศการศึกษา การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการฝึกอบรมครูประจำการ คณาจารย์ที่ได้รับการบรรจุใหม่อาจยังไม่มั่นใจในการสอนวิชาต่าง ๆ จึงต้องการเข้าร่วมเป็นทีมกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อสังเกตและปรับแนวทางการสอนของตน อาจารย์ที่ชำนาญแล้วจึงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้อาจารย์ใหม่ได้เข้าร่วมสังเกตและเรียนรู้ในระยะเวลาหนึ่ง จนสามารถสร้างแนวการสอนของตนเองได้ดี บทบาทของผู้เป็นพี่เลี้ยง คือการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติงานด้วยวิธีการที่เป็นกัลยาณมิตร มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ทำให้เกิดทีมงานที่เข้มแข็งและมีบรรยากาศที่ดีในการทำงาน.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก