พืชในเพลง

          “ช้างช้างช้าง ตัดเต่าร้าง ช้างกินใบไผ่ วัวกินหญ้า ม้ากินสลัดได เจ้าสังศิลป์ไชย ทาขมิ้นเหลืองอ่อน บุหรี่บ้าหรั่น นางจันตะละแมะ นางสั้นหน้าแกะ โจ๋งจ๊ะกะโจ๋งถิ่ง”

          ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินบทร้องกล่อมเด็กข้างต้นมาแล้ว คัดส่วนหนึ่งมาจากที่นายโมรา หรือ เปโมรา กวีช่วงรัชกาลที่ ๔ – ๕ รวบรวมแล้วผูกเป็นเรื่องราวไว้  จากบทข้างต้นมีชื่อพืชอยู่ในบทร้องนี้ถึง ๕ ชนิดด้วยกัน ผู้เขียนขอจำแนกและอธิบายตามนิยามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้

          ๑. เต่าร้าง  เป็นชื่อปาล์ม ๒ ชนิดในสกุล Caryota  วงศ์ Palmae คือ ชนิด C. mitis  Lour. ต้นเป็นกอ และชนิด C. urens  L. ต้นคล้ายหมาก ผลเป็นทะลาย เต่ารั้ง หรือ หมากคัน ก็เรียก

          ๒. ไผ่  เป็นชื่อไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลในวงศ์ Gramineae ขึ้นเป็นกอ ลําต้นเป็นปล้อง ๆ

          ๓. หญ้า  เป็นชื่อเรียกไม้ล้มลุกหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Gramineae; ใช้อนุโลมเรียกพรรณไม้บางชนิดที่มิได้อยู่ในวงศ์ Gramineae เช่น หญ้าเกล็ดหอย หญ้างวงช้าง.

          ๔. สลัดได [สะหฺลัด–] เป็นชื่อไม้พุ่มหลายชนิดในสกุล Euphorbia วงศ์ Euphorbiaceae ต้นเป็นเหลี่ยม มีหนาม ไม่มีใบ เช่น ชนิด E. lacei  Craib สลัดไดป่า (E. antiquorum  L.) ส่วนที่ใช้ทํายาได้เรียก กระลําพัก

          ๕. ขมิ้น [ขะมิ่น] เป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิด Curcuma longa  L. ในวงศ์ Zingiberaceae เหง้าสีเหลือง ใช้ปรุงอาหาร ทํายา ทําผงทาตัว และใช้ย้อมผ้า ขมิ้นชัน ก็เรียก อีสานและปักษ์ใต้เรียก ขี้มิ่น คำโบราณใช้ว่า ข้าวมิ่น

          ในบทร้องยังมีคำว่า บุหรี่บ้าหรั่น  ซึ่ง นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต อธิบายว่า คือ บุหรี่และสุราชนิดหนึ่ง  ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เชื่อว่า บ้าหรั่น น่าจะกร่อนมาจากคำ บรั่นดี (Brandy) ทั้งนี้เพื่อความสอดคล้องกลมกลืนของบทร้องนั่นเองค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ