พุทรา

          คำว่า พุทรา มาจากภาษาสันสกฤตว่า พทร (อ่านว่า พะ-ทะ-ระ ) ไทยแผลงเป็น พุทรา คือออกเสียง ทร (อ่านว่า ทอ-รอ) เป็นเสียง ซ. พุทราเป็นชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง กิ่งมีหนาม ผลมีทั้งกลมและรี ใบมีขนาดเล็ก ดอกมีกลิ่นเหม็น

          ด้วยเหตุที่พยางค์ท้ายของคำว่า พุทรา พ้องเสียงกับคำว่า ซา ซึ่งหมายถึง ลดน้อยลง โบราณจึงห้ามปลูกพุทราในบ้าน เพราะจะทำให้ทรัพย์สินหรือโชคลาภน้อยลง คือซาลงตามชื่อต้นไม้

          คำว่า พุทรา ปรากฏในสำนวน แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา ซึ่งหมายความว่า แผ่นดินนี้กว้างใหญ่ ยังสามารถแสวงหาสิ่งที่ต้องการได้ เช่น เธออย่าได้เสียใจไปเลย แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา อีกไม่ช้าเธอก็คงจะพบคนใหม่ ดีกว่าคนไร้น้ำใจคนนี้เสียอีก

          สำนวนที่ใช้เปรียบกับใบพุทรานี้แต่ก่อนใช้ว่า มิใช่แผ่นดินเท่าใบพุทรา หมายความว่า แผ่นดินนั้นกว้างใหญ่ มิใช่เท่าใบพุทรา. ดังในประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องเงินสำหรับซ่อมแซมพระอารามซึ่งเป็นส่วนพระองค์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

          “…ก็การที่รื้อของเก่านั้นไม่ทรงเห็นด้วย ทรงเห็นว่าเหมือนกับคำเขาว่า มิใช่แผ่นดินเท่าใบพุดซา เมื่อศรัทธาอุตสาหจะสร้างวัดที่ไหนก็จงสร้างลง”

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.