พ่อขุน

          เมื่อกล่าวถึงพ่อขุน หลายคนอาจคิดถึงพ่อขุนแต่ละองค์แตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นพ่อขุนองค์ที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราช เชื่อว่าทุกคนทราบแน่นอนว่าหมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อคนไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เป็นต้น ดังที่สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง เมื่อพระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่ ๒ ทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า พระยาบานเมือง ได้เสวยราชต่อจากพระราชบิดา เป็นพ่อขุนบานเมือง เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงได้เสวยราชย์แทน

          ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นเป็นอันมาก มีระบบการปกครองภายในที่พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ปกครองพลเมืองเสมือนเป็นลูกหลาน เมื่อประชาชนเดือดร้อนสามารถไปร้องทุกข์ให้ทรงตัดสินคดีให้ด้วยความเป็นธรรม ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงให้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง ด้วยการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น ให้พระเถรานุเถระหรือพระผู้ใหญ่นั่งแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ หากในวันธรรมดาพระองค์จะขึ้นประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน ทำให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนตั้งอยู่ในศีลในธรรม

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ แต่มีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้น โดยทั้งพยัญชนะและสระจะอยู่บนบรรทัดเดียวกัน ทำให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำภาษาไทยได้ทุกคำ การเขียนและการอ่านหนังสือไทยจึงสะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้อนุชนรุ่นหลังสามารถศึกษาความรู้ต่าง ๆ ได้สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๘๔๑.

กนกวรรณ ทองตะโก