ภาพยนตร์มีระดับ

หลังจากตรากตรำทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ หลายคนอาจเลือกที่จะพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจในวันหยุดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด  กิจกรรมหนึ่งที่คงมีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยนิยมชมชอบก็คือ การชมภาพยนตร์  ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาหลากหลายอาจให้ทั้งความรู้และความบันเทิงควบคู่กันไป ขณะเดียวกันก็อาจนำเสนอบางสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้ชมบางรุ่นวัยด้วย  การจัดระดับภาพยนตร์จึงมีส่วนสำคัญในการแบ่งภาพยนตร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ชม  พจนานุกรมศัพท์เทคโนโลยีทางภาพ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีคำอธิบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ระดับต่าง ๆ ดังนี้

ภาพยนตร์ไม่จำกัดวัยผู้ชม (general film) หรือภาพยนตร์ระดับจี (G-rated; G-rated film) คือ ภาพยนตร์ที่เหมาะแก่ผู้ชมทุกวัย  ภาพยนตร์จำกัดวัยผู้ชม (restricted film) หรือภาพยนตร์ระดับอาร์ (R-rated; R-rated film) คือ ภาพยนตร์ที่ผู้ใหญ่ดูได้ แต่ห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๗ ปีดู หากไม่มีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เนื่องจากมีเนื้อหาที่รุนแรง มีเรื่องทางเพศ หรือคำหยาบคาย  ภาพยนตร์ผู้ปกครองร่วมชม (parental guidance film) หรือภาพยนตร์ระดับพีจี (PG-rated; PG-rated film) คือ ภาพยนตร์ที่เด็กดูได้ แต่ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เนื่องจากมีเนื้อหาบางตอนไม่เหมาะแก่เด็ก  ภาพยนตร์ระดับพีจี ๑๓ (PG 13) เป็นภาพยนตร์ที่เด็กอายุต่ำกว่า ๑๓ ปีดูได้ แต่ต้องมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำ เนื่องจากเนื้อหาบางตอนมีความรุนแรง แม้ว่าจะไม่มีเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง 

ภาพยนตร์ระดับเอกซ์ (X-rated; X-rated film) นอกจากหมายถึง ภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจว่ามีเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้งเพื่อเรียกคนดูแล้ว ยังหมายถึงภาพยนตร์ที่ห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๗ หรือ ๑๘ ปีดู เนื่องจากเนื้อหาแสดงเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้งด้วย (สหรัฐอเมริกายกเลิกระดับภาพยนตร์นี้ไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓)  ส่วนภาพยนตร์ห้ามผู้ชมอายุต่ำกว่า ๑๗ ปี (no children under 17 admitted) หรือภาพยนตร์ระดับเอ็นซี –๑๗ (NC-17) คือ ภาพยนตร์ที่ห้ามเด็กอายุ ๑๗ ปีหรือต่ำกว่านี้ดู เนื่องจากเนื้อหาแสดงเรื่องทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง (เริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อแทนภาพยนตร์ระดับเอกซ์ที่ยกเลิกไป).

                                                                                                            อารยา  ถิรมงคลจิต