ภาวะ สภาวะ สภาพ และสถานะ

           คำทั้ง ๔ คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมาก บางครั้งจึงเกิดความไม่แน่ใจว่าจะใช้คำใดจึงจะถูกต้อง เช่น จะใช้ว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน หรือสถานะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

            คำ “ภาวะ” มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า “ภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “ความมี ความเป็น ความปรากฏ.” [หน้า ๖๑๖]

            คำ “สภาวะ” พจนานุกรมแปลว่า “สภาพ” และที่คำ “สภาพ” แปลว่าความเป็นเองตามธรรมดาของมัน ลักษณะในตัวเอง; ภาวะ ธรรมชาติ.” (ภาษาบาลีว่า สภาว; สันสกฤตว่า สฺวภาว) [หน้า ๗๘๒]

            คำ “สถานะ” มาจากคำสันสกฤตว่า “สฺถาน” ตรงกับคำ “ฐาน” ในภาษาบาลี พจนานุกรมแปลว่า “ความเป็นไป ความเป็นอยู่.” [หน้า ๗๗๙]

            ในการประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรม (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น คณะกรรมการชำระพจนานุกรม) นายเจริญ อินทรเกษตร กรรมการและเลขานุการในขณะนั้นได้บันทึกการอภิปรายของที่ประชุมเกี่ยวกับแยกใช้คำในกลุ่มนี้  ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์รวมไว้ในหนังสือ “ความรู้ทางอักษรศาสตร์” สรุปว่าหลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในที่ประชุมหลายครั้งแล้วลงมติ

           “สภาวะ หรือ สภาพ     ตรงกับภาษาอังกฤษว่า       nature (abstract)
             ภาวะ                                      ”                             condition
             สถานะ                                    ”                             state”

            คำว่า “สภาวะ” กับ “สภาพ” มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกันจึงใช้แทนกันได้ ความหมายหลักคือ ลักษณะความเป็นอยู่โดยธรรมชาติ เช่น เกิดสภาวะอากาศแปรปรวนจนนักบินไม่สามารถนำเครื่องบินลงได้ ตึกหลังนี้มีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

            ส่วน “ภาวะ” หมายถึง ความมีหรือความเป็นโดยทั่ว ๆ ไปของบุคคลนั้นหรือของสิ่งนั้น โดยเกิดจากผลที่มีผู้ได้กระทำหรือก่อขึ้น เช่น เขาอยู่ในภาวะคับขัน ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม

            คำว่า “สถานะ” หมายถึง ลักษณะความเป็นอยู่ คำนี้คณะกรรมการชำระพจนานุกรมชุดปัจจุบันได้ให้ตัวอย่างประโยคเพิ่มเติมไว้เพื่อจะได้เข้าใจชัดขึ้นคือ เขาอยู่ในสถานะยากไร้ เศรษฐกิจของประเทศไทยมีสถานะมั่นคง น้ำมีสถานะปรกติเป็นของเหลว นอกจากนี้ คำนี้ยังใช้สมาสกับคำอื่น เป็น สถานการณ์  หมายถึงเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป เช่น สถานการณ์บ้านเมืองเป็นปรกติดี และ สถานภาพ  หมายถึง ฐานะ เช่น ราชบัณฑิตยสถานมีสถานภาพเป็นแหล่งค้นคว้าและบำรุงสรรพวิชา; ตำแหน่งหรือเกียรติยศของบุคคลที่ปรากฏในสังคม เช่น มีสถานภาพเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี สิทธิหน้าที่ตามบทบาทของบุคคล เช่น เขามีสถานภาพทางครอบครัวเป็นบิดา.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓