ภาษากับตัวอักษร (๑)

สืบเนื่องมาจากเรื่อง “การตั้งชื่อถนนเป็นภาษาอังกฤษ ?” มีผู้ให้ความเห็นผ่านทางอีเมลมาพอสมควร จึงต้องขอขยายความเพิ่มเติมอีกครั้ง ด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษากับตัวอักษร

ภาษาคือระบบการสื่อสารของมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยเสียงหรือตัวแทนของเสียงที่มารวมกันอย่างมีระบบ ตั้งแต่เรื่องคำ ประโยค และข้อความที่พูดกัน ในความหมายกว้างๆ ภาษาก็หมายถึงระบบการสื่อสารอื่นๆ ที่มิใช่ระบบของมนุษย์ด้วย เช่น ภาษาของผึ้ง ภาษาของปลาโลมา

ภาษาบางภาษามีคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้พูด เช่น ภาษาไทยในประเทศไทย ภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น แต่บางครั้งก็มีคนในบางส่วนของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นผู้พูด เช่น ภาษาฝรั่งเศสในแคนาดา ภาษาไทยในชุมชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา

ภาษาเดียวกันที่พูดในประเทศเดียวกันก็อาจจะพูดต่างๆ กันไปในแต่ละถิ่นได้ นอกจากนี้ ในเขตแดนที่ต่อกัน ภาษาที่พูดก็อาจจะมีลักษณะเป็นภาษาถิ่นของภาษาใดภาษาหนึ่งก็ได้ เช่น ภาษาเขมรที่ใช้ตามชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา

ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้ในระบบการเขียนของแต่ละภาษานั้นก็คือสิ่งที่แต่ละภาษาเลือกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวแทนของเสียง หรือพยางค์ หรือคำในภาษาของตน ระบบการเขียนโดยทั่วไปมีอยู่สามแบบ คือ แบบตัวอักษร (เช่น ตัวอักษรไทย ตัวอักษรโรมัน) แบบพยางค์ (เช่น ตัว Katakana และ Hiragana ของภาษาญี่ปุ่น) และ แบบภาพ (เช่น ตัวจีน และตัว kanji ของภาษาญี่ปุ่น)

การเขียนแบบตัวอักษรนั้นก็มีอยู่หลายระบบ เช่น

ก. ตัวโรมัน (Roman script) ซึ่งใช้ในภาษาแถบยุโรป (เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส) และนอกยุโรป (เช่น ภาษาสวาฮิลี บาฮาซามาเลเซีย บาฮาซาอินโดนีเซีย เตอร์กิช)

ข. ตัวอารบิก (Arabic script) ซึ่งใช้ในภาษาอาหรับ เปอร์เซีย อุรดู มาเลย์

ค. ตัวซิริลลิก (Cyrillic script) ซึ่งใช้ในภาษารัสเซีย ยูเครน บัลแกเรีย

 

สําหรับภาษาไทยนั้น ก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยใช้ขึ้นใน ปี พ.ศ.๑๘๒๖ นั้น ภาษาไทยก็ได้อาศัยใช้ตัวอักษรมอญโบราณและขอมโบราณเป็นตัวแทนมาก่อน

การที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาใช้เองนั้น หากพิจารณาในแง่ภาษาก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการที่ภาษาซึ่งมีลักษณะหนึ่งจะไปใช้ตัวอักษรของภาษาซึ่งมีลักษณะต่างออกไปย่อมมีข้อขัดข้อง ด้วยอักษรของภาษาอื่นไม่อาจจะเป็นตัวแทนของภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ในปัจจุบันนี้เรามีเรื่องเถียงกันยามที่ใช้อักษรโรมันเป็นตัวแทนของภาษาไทยนี่แหละ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นมีอยู่มากมายทั้งในด้านวิธีเรียงลำดับตัวอักษร และการสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้พอใช้ในภาษาไทย

ในด้านพยัญชนะ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๙ ตัว คือ ฃ (ขวด) ฅ (คน) ซ (โซ่) ฎ (ชฎา) ด (เด็ก) บ (ใบไม้) ฝ (ฝา) ฟ (ฟัน) และ อ (อ่าง) ในด้านสระ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๔ ตัว คือ สระอึ สระอือ สระแอ และ สระเอือ ในด้านวรรณยุกต์ ทรงสร้างขึ้นใหม่ ๒ ตัว คือ ไม้เอก กับไม้โท (รูปร่างเหมือนกากบาท)

สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่นี้เป็นของไทยเองจริงๆ จึงสามารถใช้แทนเสียงไทยได้อย่างสนิท

ส่วนตัวอักษรอื่นๆ ที่เราใช้ร่วมกับภาษาอื่นนั้น เราก็ดัดแปลงรูปเสียใหม่ และกำหนดเสียงให้แต่ละตัวตามแบบของเราเอง ดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า ก ข ค ฆ ง เราอ่านว่า “กอ ขอ คอ ฆอ งอ” แต่เขมรอ่านว่า “กอ คอ โก โค โง”

ในทำนองเดียวกัน อักษรโรมันเมื่อตกไปอยู่ในภาษาใดก็ออกเสียงไปตามภาษานั้น เช่น ตัว a ภาษาอังกฤษอ่านว่า “เอ” แต่ภาษาฝรั่งเศส อ่านว่า “อา” ตัว z ภาษาอังกฤษแบบบริทิชอ่านว่า “แซด” แต่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอ่านว่า “ซี”

ในภาษาอังกฤษเอง แม้จะเรียกตัว a ว่า “เอ” แต่เมื่อนำไปประกอบเป็นคำก็ยังออกเสียงแตกต่างกันออกไปอีก เช่น

any ออกเสียงคล้าย “เอ”

bad ออกเสียงคล้าย “แอ”

father ออกเสียงคล้าย “อา”

ball ออกเสียงคล้าย “ออ”

about ออกเสียงคล้าย “เออะ”

savage ตัว a ในพยางค์หลังออกเสียงคล้าย “อิ”

จะเห็นได้ว่าในแง่ของสระแล้ว รูปสระในภาษาอังกฤษมีความกำกวมมากกว่ารูปสระในภาษาไทยมาก เพราะสระไทยส่วนใหญ่เขียนอย่างไรก็อ่านอย่างนั้น

เมื่อถึงจุดนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า ตัวอักษรไม่ว่าจะเป็นชุดใด ก็ไม่มีเสียงที่แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับว่านำไปใช้เป็นตัวแทนของภาษาใด

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน