ภาษากับตัวอักษร (๒)

ด้วยเหตุฉะนี้เอง กลุ่มครูสอนภาษากลุ่มหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส จึงคิดกันว่าน่าจะมีตัวอักษรสักชุดหนึ่งเพื่อใช้ถอดเสียงในภาษาได้อย่างไม่กำกวม อักษรชุดนี้ก็คือ International Phonetic Alphabet (I.P.A.) หรือสัทอักษรสากล (ไอพีเอ) สมาคมครูที่ว่านี้ แต่เดิมมีชื่อว่า The Phonetic Teachers” Association ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๘๖ ในปัจจุบันนี้ก็คือ International Phonetic Association หรือสมาคมสัทศาสตร์สากล

สัทอักษรสากลใช้อักษรโรมัน อักษรกรีก และเครื่องหมายอื่นๆ เป็นตัวแทนเพื่อแสดงเสียงพูดในภาษาต่างๆ ตัวอย่าง เช่น “a” ใช้แทนเสียง “อะ” ในภาษาไทย “aa” ใช้แทนเสียง “อา” ในภาษาไทย ชาวต่างชาติที่เรียนภาษาไทย เมื่อเรียนสัทอักษรแล้วก็จะออกเสียงภาษาไทยได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ใช้ภาษาทั่วไปอาจจะไม่รู้จักสัทอักษรที่ว่านี้ จึงมีความจำเป็นต้องดัดแปลงอักษรโรมันมาใช้แทนอีกทีหนึ่ง เรียกว่า Romanization หรือ “การถอดอักษรเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง” เมื่อนำมาใช้กับภาษาไทยเราก็เรียกว่า “การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง”

เมื่อนำไปใช้กับภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Romaji” หรือ “ถอดเสียงภาษาญี่ปุ่นโดยใช้อักษรโรมันเป็นตัวแทน”

 

แนวความคิดเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันนี้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑ ในสมัยนั้นมีปัญหาเรื่องการเขียนชื่อทางภูมิศาสตร์ในแผนที่ซึ่งไทยทำร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศส

ทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งเศสได้ตกลงร่วมกันที่จะสร้างระบบการเขียนขึ้นระบบหนึ่งซึ่งใช้ตัวอักษรโรมันแทนเสียงอ่านชื่อภาษาไทย ระบบนี้มุ่งอยู่ที่เสียงอ่านเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องรูปการเขียน และยังได้สมมุติกันต่อไปว่ารูปการเขียนเป็นอักษรโรมันนั้นสามารถจะถอดกลับออกมาเป็นไทยและให้อ่านได้อย่างเดิมด้วย

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็เข้าใจกันได้แต่เฉพาะในหมู่คนไทย ซึ่งรู้จักคำไทยนั้นๆ ดีอยู่แล้วเท่านั้น จึงมิได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ต้องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันจึงต้องอาศัยใช้ระบบอื่นๆ มีอยู่ระบบหนึ่งซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่มากในเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันในปัจจุบัน นั่นคือระบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้การเขียนนามสกุลเป็นอักษรโรมันอยู่ในระบบเดียวกัน จึงทรงวางระเบียบการเขียนนามสกุลที่เป็นภาษาสันสกฤตและบาลีหรือเทียบจากอักษรไทยไว้

จะขอนำหลักการถอดพยัญชนะมาให้ดู ดังนี้

ไทย สันสกฤต เสียงไทย ไทย สันสกฤต เสียงไทย

และบาลี และบาลี

ก K K น N N

ข Kh Kh บ – B

ค G Q ป P P

ฆ Gh Gh ผ Ph Ph

ง N (or ng) ng ฝ – F

จ Ch Ch พ B Ph

ฉ Chh Chh ฟ – F

ช J X ภ Bh Bh

ซ – S ม M M

ฌ Jh – ย Y Y

ญ n N (or ng) ร R R

ฎ – D ล L L

ฏ T T ว V or W V or W

ฐ Th Th ศ S –

ถ D D ษ Sh –

ฒ Dh Dh ส S S

ณ N N ห H H

ด – D ฬ L –

ต T T ฮ – H

ถ Th Th ฤ ฤๅ Ri Ri<– Ri Ri<–

ท D Th ฦ ฦๅ Li Li<– Li Li<–

ธ Dh Th

(จากหนังสือ พระราชกรณียกิจสำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง กำเนิดนามสกุล เล่ม ๑ โดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุมทรเวช) )

 

จะเห็นได้ว่าระบบนี้ใช้สัญลักษณ์พิเศษนอกเหนือไปจากอักษรโรมันบ้าง ดังจะเห็นได้ว่า “ญ” ใช้ n (ตัว n มีขีดยาวด้านบน) และมีเครื่องหมายพิเศษเหนือตัว i ที่ใช้แสดงตัว ฤๅ กับตัว ฦๅ

คงจะสังเกตได้ไม่ยากนักว่าระบบนี้รักษารูปการเขียนตามภาษาสันสกฤตและบาลี เจ้าของชื่อและผู้ที่รู้จักระบบนี้เท่านั้นที่จะอ่านชื่อนั้นๆ ออก เช่น “เทพวัลย์” เขียนว่า Debavalaya (จากหนังสือ อักขรานุกรมนามสกุลพระราชทาน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ระบบนี้จึงมิได้เอื้อการอ่านตามเสียงภาษาไทย แต่เป็นการรักษารูปคำเพื่อให้ทราบความหมาย ถนน “ทรัพย์” ถ้าใช้ระบบนี้จะต้องเขียนว่า “Drabya” คนไทยคงจะไม่หลง เพราะป้ายบอกชื่อถนนมีภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย แต่ฝรั่งที่อ่านเป็นภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่แขกที่อ่านเป็นภาษาสันสกฤตอาจจะบอกคนไทยไม่ถูกก็ได้ว่าจะไปไหน

เพราะคนไทยอาจจะไม่รู้จักถนน “ดรับยา” รู้จักแต่ถนน “ทรัพย์” ที่ออกเสียงว่า “ซับ”

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน