ภาษากับตัวอักษร (๓)

ใน พ.ศ.๒๔๗๔ กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ได้พิจารณาเห็นว่าหากสามารถหาหลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันที่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ย่อมจะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องนี้

คณะกรรมการเห็นว่า หลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันน่าจะยึดหลักภาษาไทยเอาไว้ และการถอดอักษรก็น่าจะเป็นไปตามรูปเขียนและการออกเสียงของภาษาไทย เพราะหากจะยึดหลักตามภาษาเดิมซึ่งเป็นที่มาของคำไทย อักษรไทยตัวเดียวกันอาจจะถอดออกมาเป็นอักษรโรมันหลายตัวได้ เช่น ทร อาจจะถอดเป็น thon s tr หรือ tara ครั้นจะถอดตามเสียงอ่านจริงๆ ก็จะไม่ตรงกับรูปการเขียน

คณะกรรมการจึงได้พิจารณาหลักไวยากรณ์ไทย แล้วเห็นว่าการแบ่งมาตราตัวสะกดของไทยเป็น แม่กก แม่กง แม่กด แม่กน แม่กบ และ แม่กม นั้น เป็นหลักการออกเสียงอยู่แล้ว นั่นคือออกเสียงพยัญชนะตัวสะกดตามแม่ตัวสะกดดังได้กล่าวแล้ว

คณะกรรมการจึงพิจารณาให้ใช้หลักนี้เป็นพื้นฐาน และควรจะมี ระบบทั่วไปและระบบพิสดาร ระบบทั่วไปอนุโลมตามเสียงอ่าน ระบบพิสดารอนุโลมตามรูปการเขียน ระบบทั่วไปจะใช้ในกรณีที่การออกเสียงสำคัญกว่าการเขียน ส่วนระบบพิสดารจะใช้ในกรณีที่ต้องการแสดงรูปการเขียนอย่างละเอียด

หลังจากที่ได้ตรวจสอบวิธีการอ่านและการเขียนของไทยแล้ว คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเห็นว่า ในระบบทั่วไปนั้นไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายวรรณยุกต์หรือการแยกเสียงสระสั้นสระยาว เครื่องหมายดังกล่าวจะใช้ในระบบพิสดารเท่านั้น

 

บันทึกเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันทั้ง ๒ ระบบนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ ใน พ.ศ.๒๔๗๕ ในสิ่งพิมพ์หลายฉบับเพื่อฟังความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๗ ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งได้รับโอนงานนี้ต่อมาจากกระทรวงธรรมการ ก็ได้สานงานนี้ต่อ ได้มีการพิจารณาทั้งระบบทั่วไปและระบบพิสดารร่วมกับวิทยาลัยฝรั่งเศสแห่งตะวันออกไกล ที่เมืองฮานอย วิทยาลัยฝรั่งเศสแห่งตะวันออกไกลเห็นชอบด้วยในหลักการ แต่เสนอว่าควรให้เห็นความแตกต่างระหว่างสระที่มีตัวสะกดกับที่ไม่มีตัวสะกด เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ราชบัณฑิตยสถานได้นำระบบดังกล่าวมาดัดแปลงแก้ไขอีกเล็กน้อย ทั้งสองระบบนี้ได้รับความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๒

อย่างไรก็ตาม ระบบทั่วไปและระบบพิสดารดังกล่าวแล้วนั้นใช้ไม่สะดวก เพราะระบบพิสดารนั้นเป็นที่สับสนทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้แต่ระบบทั่วไปก็ใช้สัญลักษณ์พิเศษที่คนทั่วไปไม่รู้จัก เช่น จ จาน ใช้ ch แต่เหนือตัว c มีเครื่องหมายพิเศษ สระอึ ใช้ตัว u มีเครื่องหมายกำกับด้านข้าง สระออ ใช้ตัว o มีเครื่องหมายกำกับด้านล่าง สระแอ หน้าตาเหมือน a กับ e หันหลังชนกัน สระเออ ก็เหมือนกับ o กับ e หันหลังชนกัน ลองนึกถึงภาษาเวียดนาม (ใช้ ด เด็ก สะกด) ที่ใช้อักษรโรมันเขียนก็แล้วกัน มีแต่คนที่รู้ภาษาเวียดนามเท่านั้นที่จะอ่านได้

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๔ กรมการแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ (ปัจจุบันคือ กองทำแผนที่ กรมแผนที่ทหารบก) ได้ร่วมกับสหรัฐอเมริกาจัดทำแผนที่ในระบบใหม่ โดยใช้เทคนิคการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ปรากฏว่าไม่สามารถใช้ระบบของราชบัณฑิตยสถานได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบทั่วไปหรือระบบพิสดาร จึงมีการเสนอระบบใหม่ซึ่งดัดแปลงมาจากระบบทั่วไปของราชบัณฑิตยสถาน ระบบใหม่นี้ได้รับการรับรองในการประชุมว่าด้วยการวางมาตรฐานชื่อภูมิศาสตร์ ที่เจนีวา ใน พ.ศ.๒๕๑๐

ในระบบนี้เครื่องหมายพิเศษต่างๆ ถูกตัดหายไปหมด เหลือแต่อักษรโรมันเพียง ๒๖ ตัว ความกำกวมจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น “จ ฉ ช ฌ” ใช้ ch เหมือนกัน “สระอึ สระอือ สระอุ สระอู” ใช้ u เหมือนกัน

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน