ภาษากับตัวอักษร (๔)

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๙ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้พิจารณาเห็นควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ เสียใหม่ เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังมีที่บกพร่อง ไม่สอดคล้องกับความต้องการและลักษณะการใช้ในปัจจุบัน และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ได้มีมติมอบหมายให้ประเทศไทย โดยราชบัณฑิตยสถานเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการจัดทำร่างมาตรฐานการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้วย ราชบัณฑิตยสถานจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอแต่งตั้ง คณะกรรมการปรับปรุงวิธีการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้

ในปัจจุบันหลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้ประกาศใช้แล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๒ เพื่อให้ใช้เขียนชื่อจังหวัด เขต อำเภอ กิ่งอำเภอ และชื่อทางภูมศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งชื่อถนนด้วย รายละเอียดจะหาดูได้ในหนังสือ “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง การเขียนชื่อจังหวัด เขต อำเภอ และกิ่งอำเภอ และ เรื่อง หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง” ของราชบัณฑิตยสถาน

หลักเกณฑ์ใหม่นี้ได้พยายามใช้ตัวอักษรโรมันเพียง ๒๖ ตัวเป็นตัวแทนเสียงตามแนวของสัทอักษรสากลเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงความเคยชินของคนไทยด้วย ตัว จ ซึ่งควรจะแทนด้วย c และตัว “ฉ ช ฌ” ซึ่งควรจะแทนด้วย ch ก็ต้องรักษาไว้แบบเดิม คือใช้ ch เหมือนกันหมด สิ่งที่ทำได้คือ พยายามแยกความกำกวมระหว่าง “สระอุ สระอู” กับ “สระอึ สระอือ” โดยใช้ u แทน “สระอุ สระอู” แล้วใช้ ue แทน “สระอึ สระอือ” จึงถือได้ว่าเป็นการ “สมมติ” อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะถึงอย่างไรอักษรโรมันเพียง ๒๖ ตัวก็ไม่สามารถจะแทนเสียงทั้งหมดในภาษาไทยได้

ตัวอย่างชื่อถนนและสถานที่ที่ใช้ระบบนี้ได้อย่างถูกต้องก็มีเช่น

จตุจักร = Chatuchak

แจ้งวัฒนะ = Chaeng Watthana

ถ้าเขียนผิดไปจากนี้ก็หมายความว่าเจ้าหน้าที่มิได้ปฏิบัติตามกฎ หาใช่ความผิดของราชบัณฑิตยสถานไม่

 

ปัญหาที่น่าจะกล่าวถึงต่อไปก็คือ “ความเคยชินของคนไทย” “ความเคยชินของคนไทย” สมัยนี้ก็คือ ความเคยชินกับภาษาอังกฤษ และมักจะเห็นว่า อักษรโรมัน a ถึง z คือ “อักษรอังกฤษ” นอกจากนี้ ยังเรียกการเขียนชื่อไทยด้วยอักษรโรมันว่า “เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษ” ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าชื่อ “นิตยา” จะใช้อักษรโรมันว่า “Nitaya” แต่ “Nitaya” ก็ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ในแบบฟอร์มมากมายมักจะมีช่องให้เติม ๒ ช่อง คือ “ชื่อภาษาไทย” กับ “ชื่อภาษาอังกฤษ” คนที่จะกรอกแบบฟอร์มเหล่านี้ได้จริงมีเพียงไม่กี่คน เท่าที่นึกออกก็มี “อมิตา ทาทา ยัง” และ “บุษบา นิโคล เทริโอ” เธอเหล่านี้สามารถกรอกแบบฟอร์มได้อย่างถูกต้องว่า “ชื่อภาษาไทย” คือ “อมิตา” หรือ “บุษบา” ส่วน “ชื่อภาษาอังกฤษ” นั้นคือ “Tata” หรือ “Nicole”

ความเคยชินแบบนี้เองที่ทำให้เกิดการแทนเสียงอีกรูปแบบหนึ่งคือ Anglicization “การทำให้เป็นเสียงภาษาอังกฤษ” ซึ่งใช้กันในวงการคาราโอเกะ ทำให้เกิดภาษาขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ “ภาษาคาราโอเกะ” ภาษานี้มุ่งเทียบเสียงคำไทยกับคำภาษาอังกฤษเท่าที่ผู้ใช้รู้จัก เช่น ชื่อ “โรจ” เขียนเป็น “Rote” โดยเทียบกับคำว่า “note” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ชื่อนี้ถ้าใช้หลักปัจจุบันของราชบัณฑิตยสถานจะเขียนว่า “Rot” ถ้าใช้หลักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเขียนว่า “Rocha” โดยที่ o ต้องมีเครื่องหมายกำกับคล้ายกับเครื่องหมายในภาษาฝรั่งเศสด้วย

เรื่องที่เขียนมาอย่างยืดยาวในครั้งนี้คงจะพอตอบข้อข้องใจของผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านมาทางอีเมลได้ว่า เหตุใดเราจึงมิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หรือเหตุใดเราจึงไม่ใช้ระบบพิสดารแบบเวียดนาม (ใช้ ด เด็ก สะกด)

แต่ไม่ว่าจะใช้หลักใดก็ตาม รับรองว่าต้องมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะเราสมมติกันคนละอย่างนั่นเอง

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน