ภาษาไทยไปอินเตอร์

เมื่อมีการตำหนิว่า การใช้ภาษาไทยที่ดีไม่ควรใช้ “คำไทยคำ อังกฤษคำ” นั้น ฟังดูเผินๆ ก็ดูเหมือนกับว่าจะเป็นคำตำหนิที่ถูกต้อง แม้แต่ผู้เขียนเรื่องนี้ก็ไม่แนะนำให้ใช้ประโยคอย่าง

“ไอ ไม่อยากให้ ยู ต้อง วอร์รี่ มากเกินไป”

แต่เมื่อลองพิจารณาดูภาษาไทยในทุกวันนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า บางครั้งเราก็ต้องอาศัยคำยืม หรือสร้างคำไทยขึ้นมาจากภาษาอังกฤษเพื่อสื่อความให้ชัดเจน เช่นเดียวกับที่เราเคยต้องอาศัยคำบาลีสันสกฤต เขมร จีน ฯลฯ ในอดีต

จำได้ว่าในการประชุมครั้งหนึ่ง คณะกรรมการต้องการจะอธิบายคำว่า “สูญ” กับ “เสีย” ว่าต่างกันอย่างไร หลังจากที่ได้พยายามใช้คำไทยอธิบายกันมาได้พักหนึ่งก็ยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งกรรมการท่านหนึ่งพูดขึ้นว่า

“เสีย ก็หมายความ ไม่เวิร์ก น่ะซี”

เท่านั้นเองคณะกรรมการก็พากันเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความหมายที่แท้จริงคืออย่างไร

ปัญหาต่อไปก็คือ ทำอย่างไรจึงจะอธิบายเป็นภาษาไทยให้ได้

“โอเค เอาโอเลี้ยงมากินคั่นเวลากันก่อนดีกว่า”

 

เมื่อพิจารณาดูภาษาไทยที่สร้างขึ้นมาจากภาษาอังกฤษแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีวิธีการที่ไม่ต่างจากเมื่อเราสร้างคำจากภาษาบาลีสันสกฤตนัก นั่นคือเรานำมาดัดแปลงเข้าสู่ภาษาของเราเองจนเจ้าของภาษาเดิมจำไม่ได้ เช่น

เรียงเบอร์ มาจากคำว่าว่า “เรียง” กับ “เบอร์” ซึ่งเป็นส่วนท้ายของคำว่า “number” โดยเรากำหนดให้หมายถึงสิ่งหนึ่งในสังคมไทยที่ฝรั่งไม่มี

ในทำนองเดียวกัน เราก็มี แอร์ จากคำว่า “air hostess” และมี ห้องแอร์ จาก “air-conditioned room”

บางครั้งเราก็ต้องอาศัยคำไทยที่สร้างจากภาษาอังกฤษมาอธิบายภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง เช่น

“หนังเรื่องนี้ใช้ เทคนิค พิเศษมาก”

คำว่า “เทคนิคพิเศษ” นั้นหมายถึง “special effect”

เราเรียกคนรับคำสั่งและยกอาหารในร้านอาหารว่า บ๋อย โดยไม่สนใจว่าเป็นเพศใด ทั้งๆ ที่คำนี้มาจากคำว่า “boy” ต่อมาเมื่อคำนี้มีความหมายโดยนัยอันตกต่ำลงไป เราก็เปลี่ยนไปเรียกว่า “น้อง” หรือ “หนุ่ม” แทน

เรามีคำว่า “พ่อครัว” กับ “แม่ครัว” แต่ต่อมาเราใช้คำว่า กุ๊ก จากภาษาอังกฤษว่า “cook” เพื่อให้ดูว่ามีความรู้ดีกว่า หรืออยู่ในสถานภาพที่ดีกว่า ต่อมาเรามีคนที่มีสถานภาพเหนือกว่า กุ๊ก ขึ้นไปอีก เราจึงใช้คำว่า เชฟ หรือ เช็ฟ จากคำว่า “chef”

เราเคยมี “นางรำ” “นักเต้นรำ” หรือ “หางเครื่อง” แต่ตอนนี้เรามี แดนเซอร์ มาแทน จากคำว่า “dancer”

 

บางคำเราก็สร้างขึ้นมาเองจนฝรั่งงง เช่น

“ร้านอาหารแห่งนี้รับสมัคร กัปตัน เป็นจำนวนมาก”

“ที่นี่มีสาว ไซด์ไลน์ สวยๆ ทั้งนั้น”

“ที่นี่รับสมัครทั้งมาร์กเกอร์และ มาร์กกี้”

“หนูมีงานพิเศษเป็น พริตตี้ ค่ะ”

“เช็กบิล ได้แล้วน้อง”

“เรานั่งรถ แท็กซี่มีเตอร์”

คำว่า เช็กบิล นี้ต้องถือว่าเกิดจากการสร้างสรรค์ของคนไทยโดยแท้ เพราะสามารถเอา “Check please.” กับ “Bill me please.” มาผสมกันได้อย่างเหมาะเจาะ เช่นเดียวกับคำว่า แท็กซี่มีเตอร์ ที่นำคำว่า “taxi” กับ “meter” มารวมกันด้วยไวยากรณ์ไทย เห็นไหมส่วนขยายตามหลังส่วนที่มันขยายจริงๆ เหมือนกับคำว่า แท็กซี่บุคคล เลย

เช่นเดียวกับคำว่า โกอินเตอร์ นี่แหละ ของไทยคิดเองจริงๆ

อย่าเผลอเอาไปพูดกับฝรั่งเชียวว่า

“Thai langauge go inter now.”

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน