ภาษีที่ดิน

         ในครั้งก่อนได้เล่าถึงที่ดินในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ แต่ยังมีคำที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่ดินอยู่อีก ๒ คำ จะขอถือโอกาสนี้นำมาเล่าสู่กันฟัง

          คำแรก คือ การปฏิรูปที่ดิน (land reform)  หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการถือครองที่ดินในสังคมเกษตรกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีความเชื่อว่า เจ้าของที่ดินที่ถือครองที่ดินในขนาดที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดินในประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจจะเกิดจากการที่เจ้าของที่ดินมีจำนวนไม่กี่รายที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้ทำการเกษตรด้วยตัวเองแต่จะให้ผู้อื่นเช่า เพราะหวังการเก็บค่าเช่าจากที่ดินเท่านั้น จึงไม่ลงทุนปรับปรุงการผลิตในที่ดินนั้น ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินโดยให้กรรมสิทธิ์แก่เกษตรกรที่ทำการผลิตโดยตรง  ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดิน นอกจากจะมีผลในทางเศรษฐกิจแล้วยังมีผลในด้านสังคมและการเมืองของประเทศด้วย กล่าวคือจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความยากจนในชนบท ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นและการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น การปฏิรูปที่ดินในประเทศไต้หวัน   

          อีกคำหนึ่งคือ ภาษีที่ดิน (land tax)  หมายถึง ภาษีที่เก็บจากมูลค่าของที่ดิน ขนาดของการถือครองที่ดิน  ผลประโยชน์หรือค่าเช่าที่ได้รับจากที่ดินนั้น  นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อว่าภาษีที่ดินอาจจะใช้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้การใช้ที่ดินมีประสิทธิภาพ และมีผลผลิตสูงขึ้น เช่น ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศญี่ปุ่นมีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่สูง เพื่อให้ชาวนาทำการผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ในการปฏิรูปที่ดินรัฐบาลอาจเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่สูงและก้าวหน้าจากเจ้าของที่ดินที่มิได้ทำการเพาะปลูกหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น เพื่อบังคับให้เจ้าของที่ดินขายที่ดิน เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำที่ดินนั้นมาทำการปฏิรูปที่ดิน อย่างไรก็ตาม การบริหารการจัดเก็บภาษีที่ดินทำได้ยากและมักจะได้รับการคัดค้านจากผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน

จินดารัตน์  โพธิ์นอก