ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(Value-Added Tax : VAT)

          ภาษีอากรเป็น “เครื่องมือ” สำหรับบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในทุก ๆ ประเทศ ซึ่งบทบาทดั้งเดิมของภาษีอาการก็คือที่มาของรายได้สำหรับรัฐบาลจับจ่ายใช้สอยในการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ในกาลต่อมา ภาษีอากรได้ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในฐานะเศรษฐกิจและสังคม.

          ภาษีอากรมีอยู่ด้วยกันหลายประเภทและหลายลักษณะ เช่น ภาษีเงินได้ ซึ่งจัดเก็บจากผู้มีเงินได้ อากรขาเข้าและอากรขาออก ซึ่งจัดเก็บจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้า อากรสรรพสามิต ซึ่งจัดเก็บจากผู้บริโภคสินค้าบางประเภทเป็นพิเศษ ภาษีการค้า ซึ่งจัดเก็บจากผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ฯลฯ. ในบรรดาภาษีอากรเหล่านี้ ภาษีการค้ามีปัญหามากที่สุด เพราะมีการจัดเก็บหลายขั้นตอนในอัตราที่ต่าง ๆ กันไป อีกทั้งมีลักษณะที่เป็นการเก็บซ้ำซ้อน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ผลิตในด้านที่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลตามมาทำให้การนำเข้า การส่งออก การผลิตและการบริโภคเบนเบี่ยงไปจากความถูกต้องและความเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจก็ได้.

           “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”  (Value-Added Tax : VAT) เป็นภาษีระบบใหม่ซึ่งหลายประเทศในโลกได้นำมาใช้จัดเก็บแทนภาษีการค้า การเก็บภาษีระบบนี้เป็นการจัดเก็บภาษีจากมูลค่าของสินค้าและบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่าย. กล่าวคือ แทนที่จะคิดภาษีจากมูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมด หากคิดภาษีเฉพาะในส่วนของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต และการจำหน่ายเท่านั้น เช่น ผ้า ๑ เมตร ราคา ๓๐๐ บาท ใช้ด้ายเป็นต้นทุนในการผลิตมูลค่า ๒๐๐ บาท รัฐบาลก็จะเก็บภาษีเฉพาะมูลค่า ๑๐๐ บาทที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มิใช่เก็บจากมูลค่า ๓๐๐ บาท

          รัฐบาลไทยได้กำหนดจะนำ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ดังกล่าวนี้จะใช้ในต้นปี ๒๕๓๓ เป็นต้นไป โดยได้มีการเตรียมการอย่างรอบคอบมาเป็นเวลาหลายปี เฉพาะอย่างยิ่งได้เตรียมการชี้แจงทั้งหลักการและวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจได้ทราบและมีความเข้าใจ สำหรับคุณประโยชน์นั้น นอกจากจะเป็นการปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับการดำเนินเศรษฐกิจในหลายด้านแล้ว ยังจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีความรัดกุมขึ้นอีกด้วย จึงนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของระบบภาษีอากรของประเทศไทยอีกส่วนหนึ่ง.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๒