ภาษี

          หน้าที่อย่างหนึ่งของพลเมืองที่ดีคือ การเสียภาษี เพราะภาษีเป็นรายได้อย่างหนึ่งของรัฐ ถ้าไม่มีรายได้ รัฐก็ไม่สามารถที่จะลงทุนใด ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศได้ รัฐที่สามารถจัดเก็บภาษีได้มากก็จะมีทุนในการพัฒนาได้มากตามไปด้วย และก็คาดหวังว่าพลเมืองของรัฐนั้นก็จะอยู่ดีกินดีตามไปด้วยเช่นกัน วันนี้จึงได้นำคำอธิบายจากพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบดังนี้ค่ะ

          tax หรือ ภาษี หมายถึง สิ่งที่รัฐบาลบังคับเรียกเก็บจากประชาชน โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษี โดยทั่วไปการจัดเก็บภาษีจะเป็นการจัดหารายได้ไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งในอดีตรัฐบาลอาจเรียกเก็บภาษีในรูปของสิ่งของหรือแรงงาน ภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บมีหลายประเภท เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทรัพย์สิน  ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะใช้การเก็บภาษีเป็นแหล่งรายได้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการคลังเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจด้วย

          เมื่อมีการบังคับก็ย่อมมีผู้หลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษี จึงมีความพยามที่จะหาช่องทางให้ตนไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียให้น้อยที่สุด ในกรณีเช่นนี้จะแบ่งเป็น การเลี่ยงภาษี (tax avoidance) กับ การหนีภาษี (tax evasion) ซึ่งหลายคนยังมีความคิดว่าทั้ง ๒ คำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ความจริงเป็นอย่างไร ที่นี่มีคำตอบให้ท่านค่ะ

          การเลี่ยงภาษี (tax avoidance) หมายถึง การกระทำของผู้เสียภาษีที่พยายามทำให้ตนเองหรือธุรกิจเสียภาษีให้แก่รัฐบาลน้อยที่สุดหรือไม่ต้องเสียเลย เป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย โดยอาศัยช่องโหว่หรือความไม่ชัดเจนของกฎหมาย เช่น กฎหมายไม่มีข้อห้าม หรือข้อกำหนดที่ชัดเจน หรือมีข้อยกเว้น  ส่วนการหนีภาษี (tax evasion) นั้นหมายถึง การที่ผู้เสียภาษีหลบเลี่ยงหรือละเว้นการเสียภาษีตามกฎหมายโดยเจตนา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การไม่ยื่นแบบชำระภาษี การไม่แจ้งจำนวนเงินได้บางส่วน หรือการปลอมแปลงเอกสารที่ใช้ประกอบการชำระภาษี

          เมื่อทราบเช่นนี้แล้วก็หาทางหนีทีไล่กันเองนะคะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก