มลลักษณ์ทางสังคม

          ศัพท์ที่อธิบายเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคมมีอยู่มากมาย แต่ที่น่าสนใจคือ มลลักษณ์ทางสังคม  หรือ social stigma  ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา แห่งราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แห่งความอัปยศหรือความเสื่อมเกียรติที่สังคมตราให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมาจากความผิดปรกติทางร่างกาย หรือพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคม หรือผิดจริยธรรม หรือความเป็นชาติพันธุ์ที่ด้อยของบุคคลหรือกลุ่มคนนั้น

          เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) เป็นผู้เริ่มนำคำนี้มาใช้ในการวิเคราะห์การปฏิสังสรรค์ทางสังคมในชีวิตประจำวัน เพื่อหมายถึงความแตกต่างระหว่างคุณสมบัติหรือลักษณะที่แท้จริงของบุคคลกับคุณสมบัติหรือลักษณะที่คนอื่นหรือสังคมคาดหมาย มีผลทำให้บุคคลผู้มีความแตกต่างนั้นไม่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างเต็มที่จากคนอื่น กอฟฟ์แมนสนใจวิเคราะห์การปฏิสังสรรค์ในชีวิตประจำวันระหว่างบุคคลผู้มีความแตกต่างในลักษณะดังกล่าวกับบุคคลปรกติ เขาชี้ให้เห็นว่า ลักษณะของการปฏิสังสรรค์ขึ้นอยู่กับว่าความแตกต่างเป็นที่รับรู้หรือประจักษ์ชัดของคนอื่น เช่น คนแขนด้วน คนเป็นง่อย  หรือไม่เป็นที่รับรู้ เช่น คนรักเพศเดียวกันที่แสดงตนเป็นคนปรกติ ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้มีความแตกต่างซึ่งเป็นที่รับรู้หรือประจักษ์ชัดคือ ต้องลดแรงกดดันจากการที่คนอื่นรับรู้ ส่วนปัญหาของผู้มีความแตกต่างซึ่งคนอื่นไม่รับรู้คือ การต้องพยายามปกปิด กอฟฟ์แมนกล่าวย้ำว่า คนทุกคนมีโอกาสเผชิญปัญหาดังกล่าวไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่สถานที่ใดก็สถานที่หนึ่ง เช่น คนอ้วนที่เข้าไปอยู่ท่ามกลางคนที่มีน้ำหนักปรกติ อาจพยายามแต่งกายกลบเกลื่อนความอ้วน หรือคนที่เคยพูดปดเกี่ยวกับอดีตของตนเอง อาจจะพยายามปกปิดไม่ให้คนอื่นล่วงรู้ตลอดเวลา.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก