มหันต์

          คงจะมีส่วนแห่งความเป็นจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย มิเช่นนั้น คงไม่มีคำพูดที่พูดกันว่า “ที่ใดมีคุณอนันต์ ที่นั่นมีโทษมหันต์”

          “มหันต์” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง “ใหญ่ มาก” และบอกที่มาของคำว่า เป็นภาษาบาลี ซึ่งคำในภาษาบาลีนั้นจะต้องมีการแปลงท้ายคำเพื่อบอกการกหรือกาล หรือที่เรียกกันว่า แจกวิภัตติ ดังนั้น คำ “มหันต์” เมื่อนำไปใช้จะมีอยู่ ๓ กรณี คือ

          ๑. นำไปใช้ตามรูปเดิม คือ “มหันต” หรือ “มหันต์” เช่น มหันตโทษ โทษมหันต์

          ๒. นำ “มหันต” ไปแจกรูปเป็น “มหา” แล้วนำไปสมาสกับคำอื่น เช่น มหาชาติ มหาชน มหานคร มหาธาตุ มหาบัณฑิต มหาบุรุษ มหาราช มหาวิทยาลัย มหาสมุทร

          ๓. นำ “มหันต” ไปแจกรูปเป็น “มหํ” (อ่านว่า มะ-หัง) แล้วนำไปสมาสกับคำอื่น เช่น มหัทธนะ ซึ่งเป็นนามหมายถึง “ผู้มั่งคั่ง คนมั่งมี” เป็นวิเศษณ์หมายถึง “มีทรัพย์มาก มั่งมี” (มหัทธนะ มาจาก มหํ + ธน เครื่องหมาย ° เรียกว่า นฤคหิต ซึ่งเมื่ออยู่หน้า ธ ให้แปลง ° เป็น ท)

          มีอยู่คำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำ “มหันต์” คือคำว่า “มหัพภาค” ซึ่งมีความหมายว่า “ภาคใหญ่” มาจาก มหํ (เกิดจากการแจกรูป “มหันต” เป็น “มหํ” ดังกรณีที่ ๓) + ภาค รวมกันแล้วเป็น “มหัพภาค” (เครื่องหมาย ° เมื่ออยู่หน้า ภ ให้แปลง ° เป็น พ) มีผู้ใช้คำว่า “มหภาค” ในความหมายว่า “ภาคใหญ่” ซึ่งการใช้คำเช่นนี้หาหลักฐานเทียบเคียงได้ลำบาก

          หากมีคำถามว่า “มหภาค” ไม่ได้มีความหมายว่า “ภาคใหญ่” แล้วจะมีความหมายว่าอย่างไร ตอบได้ว่า มีความหมายว่า “ภาคแห่งการฉลอง” เพราะเทียบเคียงกับคำว่า “มหกรรม” ซึ่งพจนานุกรมฯ อธิบายว่าหมายถึง “การฉลอง การบูชา”

          สรุปแล้ว เมื่อต้องการความหมายว่า “ภาคใหญ่” ต้องเป็น “มหัพภาค” เท่านั้น

สำรวย นักการเรียน