มหานคร

          ครั้งก่อนได้เล่าถึง นคราภิวัฒน์ (urbanization) ไปแล้ว แต่ยังมีศัพท์ที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับชีวิตของหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง เช่น กรุงเทพมหานคร  เคยคิดสงสัยกันบ้างหรือไม่คะ ว่า มหานคร หมายถึงอะไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันค่ะ

          มหานคร  หรือ metropolis นี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์  ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง  เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก มีความสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ลักษณะสำคัญของมหานคร คือเป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจการเงิน การคมนาคม สังคมและวัฒนธรรม

          เมื่อมีมหานครตั้งอยู่หลายแห่งติดต่อกันจึงเกิดเป็น  กลุ่มมหานคร  (megalopolis) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวอธิบายว่า หมายถึง เขตพื้นที่ที่ขยายออกจากเขตมหานคร (metropolitan area) ซึ่งรวมมหานคร (metropolis) และเมืองใหญ่อื่น ๆ  ที่ตั้งอยู่เป็นกลุ่มหรือแนวต่อเนื่องกันไป ศัพท์คำนี้ใช้ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเพื่ออธิบายเขตเมืองใหญ่ที่อยู่เรียงรายต่อเนื่องกันไปบนฝั่งตะวันออกตอนเหนือของทวีปอเมริกา ไล่มาตั้งแต่เหนือสุด คือ บอสตัน (รัฐแมสซาชูเซต)  แมนเชสเตอร์ (รัฐนิวแฮมเชียร์)  วู้ดสเตอร์ และสปริงฟิลด์ (รัฐแมสซาชูเซต)  โพรวิเดนซ์ (รัฐโรไอแลนด์)  ฮาร์ทฟอร์ด และนิวฮาเวน (รัฐคอนเนคติกัต)  มหานครนิวยอร์ก  มหานครเจอร์ซี  นอวร์ก (รัฐเดลาแวร์)  จนถึงบัลติมอร์ (รัฐแมรีแลนด์)  และกรุงวอชิงตันดีซี  ต่อมาคำนี้ใช้เรียกกลุ่มอภิมหานครที่อยู่เรียงรายระหว่างมหานครชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์)  ถึงมหานครพิตสเบอร์ก (รัฐเพนซิลวาเนีย)  เมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน อาจเรียกว่าเป็นกลุ่มเมือง (urban agglomeration) ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับ กลุ่มมหานคร

          ในประเทศไทย กลุ่มมหานครอาจใช้เรียกพื้นที่ที่มีเขตเมือง (urban area) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เช่น บริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กลุ่มเมืองดังกล่าวครอบคลุมกรุงเทพมหานคร และเมืองโดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี  ปทุมธานี สมุทรปราการ  สมุทรสาคร  สมุทรสงคราม  นครปฐม

          จินดารัตน์   โพธิ์นอก