มหายานหินยาน

          มหายาน เป็นชื่อนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อนิกายในพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือที่ถือกันในทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และญวน เป็นต้น นิกายนี้มีชื่อเรียกอื่นอีก ได้แก่ อาจริยวาท (ลัทธิที่ถือตามคติที่อาจารย์ได้สั่งสอนสืบ ๆ กันมา) และอุตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ)

          พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ชื่อมหายาน” นี้เกิดจากภิกษุกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าการบรรลุธรรมเพียงแค่ให้ได้เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่พวกตนมีเป้าหมายที่สูงกว่านั้นคือ การเป็นพระโพธิสัตว์ และปรารถนาพุทธภาวะเพื่อช่วยขนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นได้มาก จึงเรียกลัทธิของตนว่า “มหายาน” ซึ่งแปลว่า ยานใหญ่ที่สามารถขนสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้คราวละมาก ๆ และเรียกกลุ่มพระภิกษุที่มีอุดมคติและแนวคิดที่ต่างออกไป คือมุ่งทำตัวเองให้หลุดพ้นก่อนแล้วจึงช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ว่า หินยาน” ซึ่งมีความหมายว่า ยานที่เล็ก คับแคบ ขนสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นได้น้อย

          คำว่า หินยาน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ชื่อนิกายพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ที่ถือกันในลังกา พม่า และไทย เป็นต้น ส่วนชื่อเรียกอื่น ได้แก่ หีนยาน เถรวาท และทักษิณนิกาย ตามรูปศัพท์คำว่า ถรวาท” แปลว่า ลัทธิที่ถือตามคติที่พระเถระพุทธสาวกได้ทำสังคายนาไว้ และ ทักษิณนิกาย” แปลว่า นิกายฝ่ายใต้

          ที่มาของคำว่า “เถรวาท” เกิดจากกลุ่มพระภิกษุวัชชีบุตรเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๐๐ พระภิกษุกลุ่มนี้ประพฤติผิดธรรม ผิดวินัย เช่น ฉันอาหารในเวลาบ่าย และรับเงินและทอง เมื่อพระอรหันต์ร่วมกันวินิจฉัยว่าทำผิด ท่านก็ไม่ยอมรับ จึงแยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ และเรียกกลุ่มพระอรหันต์ที่ยึดมั่นในวาทะของพระเถระว่า “เถรวาท” ส่วนชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของนิกายเถรวาทคือ คำว่า หีนยาน” นั้นเลิกใช้ไปใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ตามมติที่ประชุมในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ...) ครั้งแรกที่ศรีลังกา และให้ใช้คำว่า เถรวาท แทนในทุกกรณี.

อารยา ถิรมงคลจิต