มหาวิทยาลัย

          “มหาวิทยาลัย” มาจากคำว่า มหา+วิทยะ+อาลัย ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่า ที่อยู่ของวิชาการหรือความรู้อันยิ่งใหญ่  ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษว่า university  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๒ ได้อธิบายถึงมหาวิทยาลัยไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

          กำเนิดของ university มาจากการรวมกลุ่มของนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการเรียนรู้และความเจริญงอกงามทางวิชาการ  ปัจจุบัน มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันทางวิชาการที่ทำหน้าที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาระดับสูงสุดของประเทศ  ในสมัยโบราณ การศึกษาระดับสูงของคนไทยมีจำกัดเฉพาะคนกลุ่มน้อย คือ ผู้ชายที่ได้บวชเรียน ผู้ที่ได้อยู่กับสำนักปราชญ์ราชบัณฑิตในวังหรือครอบครัวขุนนางชั้นสูง  แนวคิดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาจแบ่งได้ ๕ ช่วงระยะเวลาคือ ระยะที่ ๑ ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สืบเนื่องมาจากอิทธิพลแนวคิดแบบตะวันตก และความต้องการกำลังคนสำหรับรับราชการ จึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ ๒ ได้แก่ช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการศึกษา  ระยะที่ ๓ คือช่วงหลังจากระยะที่ ๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเน้นนโยบายการผลิตบัณฑิต จึงได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นอีก ๓ แห่ง ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ คือ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ระยะที่ ๔ ครอบคลุมระยะเวลาหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๔ ช่วงนี้เป็นช่วงของการเริ่มการกระจายความเจริญและการศึกษาออกไปสู่ภูมิภาค จึงได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ระยะที่ ๕ คือ ตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๕๑๔ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ๓ ลักษณะคือ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด การยกฐานะวิทยาลัยต่าง ๆ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และการจัดตั้งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอกชน

       อิสริยา  เลาหตีรานนท์