มะรุม

          ส่วนใหญ่เราท่านจะรู้จัก มะรุม ว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ส่วนของฝักสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงส้มได้คือ แกงส้มมะรุม  แต่อาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากฝักอ่อนแล้ว ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะรุมยังมีประโยชน์อีกมากมาย  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๒๓ อธิบายไว้ว่า

          มะรุม เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย  ปลูกทั่วไปในเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกหนาเหมือนไม้ก๊อก ใบเป็นใบประกอบแบบ ๓ ชั้น ใบย่อย ๖-๙ คู่ ขนาดเล็ก ออกตรงกันข้าม รูปไข่หรือไข่กลับ ปลายใบแหลม ดอกสีขาวออกเป็นช่อแผ่กว้าง กลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-เมษายน  ผลเป็นฝักสีเขียวกลมยาว ห้อยลง มีร่องตามยาวรอบฝัก ๙ ร่อง มีเมล็ดกลม ปีกกว้าง 

          นอกจากฝักอ่อนที่เรานำมารับประทานเป็นอาหารได้แล้ว  ส่วนต่าง ๆ ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร คือ ราก นำมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วคอ  ล้างแผล  ดื่มเพื่อขับปัสสาวะ  ถ้าใช้กับคนตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งได้  ใช้ภายนอกเป็นยาถูนวด ทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนัง  ส่วน เปลือกลำต้นสด ๆ ใช้อมข้างแก้มถอนพิษสุราได้  เป็นยาขับลมในลำไส้  ใบอุดมด้วยวิตามินเอและซี ใช้แก้โรคลักปิดลักเปิด ทำเป็นยาพอกแผลได้  ดอก เป็นยาบำรุง ขับน้ำตา และขับปัสสาวะได้  เมล็ดแก่ให้น้ำมัน ใช้เป็นยาแก้หอบ แก้บวม บำรุงไฟธาตุ  เนื่องจากน้ำมันจากเมล็ดมะรุมมีคุณสมบัติที่หืนมาก จึงเหมาะที่จะนำไปสกัดน้ำมันหอมจากกลีบดอกไม้  และใช้หล่อลื่นเครื่องจักร  กากที่เหลือจากบีบน้ำมันใช้ทำปุ๋ย

          แม้มะรุมจะมีคุณประโยชน์อันหลากหลายดังที่กล่าวมาแล้ว   แต่ด้วยชื่อที่ไม่เป็นมงคล มีความหมายไปในทางที่ไม่ค่อยดี คนไม่นิยมปลูกในบ้าน จึงพบหรือหาทานได้ยาก.

        กนกวรรณ  ทองตะโก