มัฆวานรังรักษ์

          หากกล่าวถึงสะพานมัฆวานรังรักษ์ หลายคนอาจบอกว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน เคยได้ยินแต่ “สะพานเทวกรรมรังรักษ์” หรือ สะพานมัฆวานรังสรรค์

          คำว่า มัฆวาน มาจากคำภาษาบาลีว่า มฆวา แปลว่า ผู้มีกำลังความสามารถ หมายถึง พระอินทร์ หนังสือ “รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๔ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้ข้อมูลไว้ว่า ในวรรณคดีสันสกฤตบรรยายว่า พระอินทร์เป็นเทพที่มีร่างกายใหญ่โต มีพละกำลังมาก สามารถปราบอสูรแห่งความแห้งแล้งได้ ส่วนวรรณคดีบาลีกล่าวว่า ชาติเดิมของพระอินทร์เกิดเป็นมาณพหนุ่มชื่อ มฆมาณพ ได้ร่วมกับเพื่อนอีก ๓๒ คน ทำบุญสร้างศาลา จึงได้เกิดเป็นพระอินทร์ครองสวรรค์ โดยมีเพื่อนทั้ง ๓๒ คน ได้เกิดเป็นเทวดาแวดล้อมใกล้ชิดพระอินทร์ สวรรค์ชั้นนี้จึงมีชื่อว่าดาวดึงส์ แปลว่าสวรรค์ของเทวดาสำคัญ ๓๓ องค์

          คำว่า “มัฆวานรังรักษ์เทวกรรมรังรักษ์” และ “มัฆวานรังสรรค์ เป็นชื่อสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่เชื่อมถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอก นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ อธิบายไว้ในหนังสือพจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ว่า สะพานมัฆวานรังรักษ์เป็นชื่อเดิมของสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นสะพานที่เชื่อมถนนราชดำเนินกลางกับถนนราชดำเนินนอกเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังดุสิต เมื่อสร้างสะพานเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ได้อธิบายว่าสะพานเทวกรรมรังรักษ์ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ถนนนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีสะพานอีก ๓ แห่งที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม คือ สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ถนนหลานหลวง สะพานเทเวศรนฤมิตร สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่ถนนสามเสน และสะพานวิศุกรรมนฤมาน สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมถนนนครราชสีมากับถนนประชาธิปไตย นามของสะพานทั้ง ๕ แห่งที่กล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ซึ่งหมายถึงเทพเป็นผู้สร้าง.

อารี พลดี