มาตราวัดแผ่นดินไหว

คำว่า มาตรา เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า scale มีความหมายอย่างหนึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า หลักกำหนดการวัดขนาด จำนวน เวลา และมุม เช่น มาตราชั่ง ตวง วัด

ปัจจุบันเราอาจพบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แต่มีความรุนแรงไม่มากนัก จนไม่สามารถรู้สึกได้ แต่สามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือน (seismograph) โดยวัดเป็นค่าพลังงานในการเกิดแผ่นดินไหวหรือวัดขนาดแผ่นดินไหว และวัดความรุนแรงหรือวัดผลกระทบจากแผ่นดินไหว คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ราชบัณฑิตยสถาน ได้เก็บศัพท์และจัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับมาตราที่ใช้วัดขนาดและวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว ไว้ในคำ Richter scale  และ Mercalli scale ผู้เขียนขอสรุปคำอธิบายมาเสนอดังนี้

มาตราริกเตอร์ (Richter scale) เป็นมาตราที่ ซี.เอฟ. ริกเตอร์ (C.F. Richter) เป็นผู้คิดและเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยใช้หลักการจากผลบันทึกของเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือนและมีการปรับแก้เกี่ยวกับระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว วัดเป็นค่าลอการิทึมฐานสิบของแอมพลิจูดสูงสุดที่วัดได้ เทียบกับเครื่องมือเฉพาะที่กำหนดให้ใช้ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง ๑๐๐ กิโลเมตรจากจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เดิมมาตรานี้มีค่าตั้งแต่ ๐-๙ ปัจจุบันวัดได้ละเอียดมากขึ้น

มาตราเมอร์คัลลิ (Mercalli scale) เป็นมาตราวัดแบบใช้คำบรรยายที่บอกให้ทราบถึงความรุนแรงของความไหวสะเทือนที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยสังเกตความรุนแรงของความเสียหายหรือความรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดแผ่นดินไหว มาตราเมอร์คัลลิเดิมกำหนดขึ้นโดยจูเซปเป แมร์คัลลี (Giuseppe Mercalli) นักธรณีวิทยาชาวอิตาลี ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แบ่งระดับความเข้มเป็น ๑๐ ระดับ ต่อมามาตรานี้ได้ปรับปรุงใหม่แบ่งความเข้มเป็น ๑๒ ระดับ

                                                                                                                                      อารี  พลดี