มโนทัศน์

          มโนทัศน์ เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า concept ซึ่งพจนานุกรมศัพท์เฉพาะสาขาวิชาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

          พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย อธิบายว่า มโนทัศน์ (concept) หมายถึง ภาพที่เกิดในใจซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งหลายสิ่งต่างกัน แต่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน เช่น แมว เป็นมโนทัศน์ทั่วไปสำหรับแมวทั้งหมด ถึงแม้แมวแต่ละตัวอาจจะไม่เหมือนกัน หรือ ดำ เป็นมโนทัศน์ของสีดำหรือความดำทั่วไป ไม่ว่าจะปรากฏเป็นคุณลักษณะของสิ่งใดในโอกาสใด ส่วน พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย อธิบายว่าเพิ่มเติมจากศัพท์ปรัชญาว่า ในทางสังคมวิทยา มโนทัศน์เป็นความหมายของคำศัพท์ที่นักสังคมวิทยาใช้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม เพื่อจำแนกประเภทของสิ่งที่สังเกตได้และใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น รวมทั้งสร้างประพจน์ (proposition) และทฤษฎี (theory)

          พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ อธิบายว่า มโนทัศน์ ความคิดรวบยอด (concept) หมายถึง ภาพหรือความคิดในสมองที่เป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ประกอบด้วยคุณสมบัติร่วมที่สำคัญของสิ่งนั้น ซึ่งขาดไม่ได้ หากขาดไปจะทำให้ไม่ใช่สิ่งนั้น เช่น ดอกไม้ทุกชนิดมีลักษณะร่วม คือ มีกลีบดอก เกสร และก้านดอก บุคคลอาจมีมโนทัศน์ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระดับที่แตกต่างกันก็ได้ เช่น บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกเป็นสัตว์ปีกบินได้ บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกมีอิสรเสรีที่จะบินไปได้ไกล บางคนมีมโนทัศน์ว่า นกเป็นสัตว์เลือดอุ่น ในพจนานุกรมดังกล่าวนี้ยังได้อธิบายถึงคำที่เกี่ยวกับมโนทัศน์ไว้อีกหลายคำ เช่น การก่อเกิดมโนทัศน์ การสร้างความคิดรวบยอด (concept formation) การจัดผังมโนทัศน์ (concept mapping) อัตมโนทัศน์ (self concept) ฯลฯ หากมีโอกาสจะได้นำมาเสนอในครั้งต่อไป.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก