มโนธรรมร่วม

เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า คำ “มโนธรรม”  หมายถึง ระบบความคิดและความรู้สึกของปัจเจกบุคคล ซึ่งช่วยในการตัดสินว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ ในสถานการณ์ต่าง ๆ  แต่ในทางสังคมวิทยามีความเห็นที่อาจแตกต่างไปคือ มีแนวคิดว่ามโนธรรมอาจไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนถึงความเชื่อของคนในสังคมนั้นด้วย  ดังที่พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายว่า มโนธรรมร่วม หรือ collective conscience นี้  เอมีล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยา อธิบายว่า หมายถึงความเชื่อและความรู้สึกร่วมกันของสมาชิกของสังคมหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวให้สมาชิกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มโนธรรมร่วมจึงเป็นเรื่องทางสังคม ซึ่งพบในสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยกแรงงานกันมากนัก สมาชิกของสังคมถูกยึดเหนี่ยวด้วยการกระทำ ความคิด และการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน  มีมโนธรรมร่วมอย่างเดียวกัน ซึ่งเดอร์ไคม์เรียกว่า ความเป็นปึกแผ่นแบบจักรกล (mechanical solidarity)  เนื่องจากในสังคมดั้งเดิมมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่เหมือน ๆ กัน และความเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม เมื่อสังคมวิวัฒนาการจากแบบดั้งเดิมมาเป็นสังคมสมัยใหม่ ความเป็นปึกแผ่นแบบจักรกลนี้ได้ถูกทำลายไป เมื่อสังคมมีความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองมากขึ้น ผู้คนมีความแตกต่างกันมากขึ้น มีความชำนาญเฉพาะทางมากขึ้น และมีการแบ่งเป็นกลุ่ม สมาคม อาชีพ และองค์การหลากหลายขึ้น ความเป็นปึกแผ่นและความเป็นระเบียบของสังคมก็กลายมาเป็นแบบอินทรีย์ หรือที่เดอร์ไคม์ใช้ว่า  ความเป็นปึกแผ่นแบบอินทรีย์ (organic solidarity)  ซึ่งหมายถึงกลุ่มองค์การต่าง ๆ ในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยกันและทำงานประสานกัน เช่นเดียวกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนสังคมที่มีความซับซ้อน มีการแบ่งแยกแรงงานตามความชำนาญเฉพาะอย่าง แต่ละส่วนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อให้งานบรรลุผล ความเป็นปึกแผ่นจึงขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่กำหนดไว้ชัดเจน  มโนธรรมร่วมจึงลดความสำคัญลงไป.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก