ม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม

          เสื้อ “ม่อฮ่อม” เป็นเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีคราม ดำ คอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น มีทั้งแบบที่ใช้กระดุมกลัดและที่ใช้ผ้าเย็บเป็นเชือกผูก เป็นเสื้อที่ชายชาวภาคเหนือสวมใส่กันเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันเสื้อม่อฮ่อมได้เปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบของเสื้อให้มีความสวยงามยิ่งขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ เพราะสวมสบาย ทนทาน และราคาถูก บางครั้งบางคราวเสื้อม่อฮ่อมยังได้รับเกียรติให้เป็นเสื้อสำหรับใส่ในงานเลี้ยงอาหารในโอกาสรับรองแขกต่างบ้านต่างเมืองด้วย

          ม่อฮ่อม เป็นคำภาษาถิ่นล้านนา โดยแท้จริงมิได้หมายถึงเสื้อ แต่หมายถึงสีของเสื้อที่เป็นสีครามอมดำ ปัจจุบันถ้าเอ่ยว่า ม่อฮ่อม จะหมายถึงเสื้อดังลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น เสื้อชนิดนี้มิใช่เสื้อสำหรับผู้ชายชาวล้านนาสวมใส่มาแต่เดิม แต่เสื้อที่ชายชาวล้านนานิยม คือเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวแบบที่เรียกว่า เสื้อห้าดูก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตั๋วก้อมแอวลอย เสื้อม่อฮ่อมเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเริ่มที่จังหวัดแพร่ เนื่องจากพวกลาวพวนที่อพยพเข้าไปอยู่ที่อำเภอเมืองแพร่ได้เย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายแก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ขึ้นก่อน จึงได้รับความนิยมซื้อสวมใส่กันแพร่หลาย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์และกงสุลอเมริกัน ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้กำหนดให้ผู้มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม ย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากงานนี้จึงมีผู้นิยมใช้เสื้อม่อฮอมกันแพร่หลายยิ่งขึ้น คนทั่วไปจึงคิดว่าเป็นเสื้อประเพณีนิยมสำหรับชายชาวล้านนา

          ในคราวที่ราชบัณฑิตยสถานได้ปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ มาเป็นพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น คณะกรรมการชุดปรับปรุงพจนานุกรม ได้เห็นควรให้เก็บคำนี้เพิ่มเติมเข้าไป และเก็บในรูปที่เขียนว่า ม่อฮ่อม ตามที่นิยมใช้เขียนกันโดยทั่วไป ต่อมามีนักภาษาที่ศึกษาทางด้านภาษาถิ่นพายัพได้แสดงความคิดเห็นและแสดงผลการศึกษาเทียบเสียงคำไทยภาคเหนือกับคำไทยกรุงเทพฯ แล้ว เห็นว่าคำนี้ควรเขียนว่า หม้อห้อม จึงจะถูกต้อง คณะกรรมการชำระพจนานุกรมจึงได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาหาข้อยุติ ในการพิจารณา คณะกรรมการฯ มีความเห็นแตกต่างกันคือ ที่เห็นว่าควรเขียน “ม่อฮ่อม” อย่างที่คนทั่วไปใช้ เพราะ ม่อฮ่อม เป็นคำ ๒ คำที่ใช้ร่วมกันคือ มอ หรือ ม่อ มีความหมายว่า “สีมืด สีคราม” หลักการใช้สีเบญจรงค์ตามขนบนิยมของชาวไทยโบราณในภาคกลาง เรียกว่า มอ หรือสีมอ เช่น มอคราม หรือสีครามม่อ หมายถึง ครามอมดำ ชาวล้านนาออกเสียง มอ เป็น ม่อ บางคนจึงเข้าใจผิด พยายามลากคำนี้ให้เป็น “หม้อ” โดยหมายว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำสีย้อม ทั้งนี้เพราะลืมคำเรียกสีมอซึ่งเป็นคำภาษาไทยเดิมไป ส่วนคำ “ฮ่อม” หมายถึงคราม คือสีครามซึ่งไม่ใช่สีวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสีครามที่ได้จากต้นฮ่อม หรือห้อม ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก ต้นเป็นพุ่ม ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baphicacanthus cusia  Brem. ในวงศ์  Acanthaceae โดยใช้ใบและต้นมาโขลกแล้วแช่น้ำซาวข้าว ทิ้งไว้ประมาณ ๔-๕ วัน จึงรินเอาแต่น้ำสีครามมาต้ม ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยแล้วนำด้ายฝ้ายมาย้อมน้ำต้มสีนี้ ๒-๓ ครั้ง จนด้ายออกสีเข้มตามต้องการ ในพจนานุกรมภาษาภาคเหนือจัดทำโดย จ.จ.ส. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เก็บคำ ฮ่อม หมายถึง สีคราม และหนังสือหลักภาษาไทยพายัพ ของพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เก็บคำนี้ไว้เช่นกันแต่เขียนในรูป ” ห้อม ดังนั้น คำนี้ควรเขียนว่า ม่อฮ่อม หรือ ม่อห้อม แต่ไม่ควรเขียนว่า หม้อห้อม เพราะรูปคำ ” หม้อ” จะทำให้ความหมายของคำนี้คลาดเคลื่อนไปเป็นผ้าที่ย้อมในหม้อ มิใช่ผ้าที่ย้อมเป็นสีมอหรือสีครามตามความเป็นจริง และไม่ว่าจะเขียนเป็นม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม ในภาษาภาคกลาง (ภาษาไทยกรุงเทพฯ) จะออกเสียงวรรณยุกต์โทเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงการเขียนตัวสะกดใหม่จะทำให้สับสนได้

          ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรเขียนว่า ม่อฮ่อม เพราะไม่ถูกต้องตามวิธีเทียบเสียงคำไทยพายัพกับภาษาไทยกรุงเทพฯ แม้ว่า ม่อฮ่อม และ หม้อฮ่อม ภาษาไทยกรุงเทพฯ จะออกเสียงเหมือนกันก็ตาม แต่ภาษาถิ่นพายัพจะออกเสียง ๒ คำนี้แตกต่างกัน จากการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประคอง นิมมานเหมินท์ ได้ถ่ายเสียงคำนี้ไว้ตรงกันว่า หม้อห้อม พจนานุกรมภาษาไทยกรุงเทพฯ-ไทยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นรายงานประกอบการศึกษาวิชาการทำพจนานุกรมของนิสิตปริญญาโท ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๓ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงวิธีเทียบเสียงคำไทยเชียงใหม่กับคำไทยกรุงเทพฯ ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ยืนยันได้ว่า เสียงวรรณยุกต์โท ในภาษาไทยกรุงเทพฯ เป็นคนละเสียงกับในภาษาไทยพายัพ เสียงของคำนี้ที่ภาษาไทยกรุงเทพฯ เขียนว่า ม่อฮ่อม ตรงกับเสียงในภาษาไทยพายัพที่เขียนเป็นรูปตัวสะกดว่า หม้อห้อม นอกจากนี้พจนานุกรมภาษาถิ่น-พายัพ ฉบับอื่น ๆ ก็เก็บคำนี้ไว้ในรูปตัวสะกดตรงกัน คือ หม้อห้อม ดังนี้
          พจนานุกรมไทยพวน-อังกฤษ รวบรวมโดย นายเมธ รัตนประสิทธิ์
                    “หม้อห้อม น. ห้อม. น. คราม สีน้ำเงินที่ได้จากต้นคราม. indigo.”
          พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ร่างที่ ๒
                    “หม้อห้อม น. หม้อที่บรรจุ ห้อม คือ ครามที่หมักไว้ย้อมผ้าและเรียกผ้าที่ผ่านการย้อมดังกล่าวว่า ผ้าหม้อห้อม.”
                    “ห้อม น. ต้นครามอย่างที่ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีครามซึ่งมีอยู่หลายชนิด.”
          พจนานุกรมไทยพวน จัดพิมพ์โดยมูลนิธิไทยพวน
                    “ห้อม น. น้ำคราม (สีครามที่ทำจากใบพืชที่เรียกว่า ต้นคราม นำต้นครามมาแช่น้ำจนเน่าเปื่อยแล้วกรองเอากากออกทิ้งผสมน้ำด่าง เถาไม้สะแก ลงไปในน้ำครามตามส่วน แล้วคนด้วยไม้หรือมือทุกเช้าเย็นจนใช้ได้ แล้วกรองไว้อีกทีหนึ่ง เก็บไว้ในหม้อหรือไหเพื่อใช้ย้อมผ้าต่อไป).”
          ในพจนานุกรมเล่มนี้ ยังเก็บคำ ฮ่อม ไว้ดังนี้
                    “ฮ่อม น. ช่องทาง แนวทาง ระเบียบ จารีตประเพณี (ห้อม หมายถึงน้ำครามที่ใช้ย้อมผ้า).”

          จากเหตุผลและเอกสารประกอบการพิจารณาคณะกรรมการชำระพจนานุกรม จึงเห็นว่าควรเขียนคำนี้ในรูปที่ยึดหลักแนวเทียบเสียงคำทางภาษาศาสตร์คือ ให้ยุติในรูปของการเขียนว่า หม้อห้อม แต่เพื่อกันมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “หม้อ” ใน คำ หม้อห้อม หมายถึงภาชนะบรรจุน้ำสำหรับย้อมโดยจะเข้าใจเป็นว่า ผ้าหม้อห้อมหรือเสื้อหม้อห้อมคือ ผ้าหรือเสื้อที่ย้อมในหม้อ มิใช่ผ้าหรือเสื้อที่ย้อมด้วยสีจากต้นห้อมซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องย้อมในภาชนะที่เป็นหม้อก็ได้ เพราะการย้อมด้วยห้อมเป็นการย้อมเย็น ไม่ต้องนำไปต้ม จึงให้อธิบายต่อท้ายคำนิยามเดิมของคำ ม่อฮ่อม (ซึ่งแก้ไขการเขียนคำตั้งใหม่เป็น หม้อห้อม) ว่า “เขียนเป็น ม่อห้อม หรือม่อฮ่อม ก็มี”

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓